คำวินิจฉัยที่ 5/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๔๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดตรัง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตรังโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องกรมทางหลวงที่ ๑ นายวีระวัฒน์ วีระพันธ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๙๕/๒๕๔๕ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ ๒ เป็นหัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ ให้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์บนทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๕ สายบางรัก-ควนขัน ตอนบ้านบางรัก-แยกต้นสมอ มีหน้าที่สำรวจทำแผนที่จัดทำรายชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ กำหนดราคา ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสิทธิและมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนอง ผู้ทรงบุริมสิทธิ หรือผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิ มาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้จากเงินค่าทดแทน รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลงและจ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนจากทางหลวงสายดังกล่าว โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายทวีศักดิ์หรือตรีนันท์ แต่งสวน ในคดีหมายเลขแดงที่ ๓๓๗/๒๕๔๔ เป็นเงินจำนวน๒,๖๙๔,๑๑๗.๑๒ บาท หากผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดที่ ๓๐๓๔๙ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๒ ได้ทำบันทึกการสำรวจกรรมสิทธ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๓๔๙ ของนายทวีศักดิ์ ฯ และต่อมาได้จ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายทวีศักดิ์ฯ เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเงินจำนวน๘๘๔,๓๖๘ บาท โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องตรวจสอบต้นฉบับโฉนดที่ดินและทะเบียนสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจน และไม่ได้แจ้งให้โจทก์ผู้รับจำนองทราบก่อนจ่ายเงินค่าเวนคืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขอรับชำระค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างจำนวน ๘๘๔,๓๖๘ บาท ได้ จึงขอให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๘๘๔,๓๖๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน๑,๐๓๒,๔๖๙.๓๕ บาท จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายทวีศักดิ์ ฯ เข้าเป็นจำเลยร่วมและศาลได้เรียกเข้าเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีและอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดตรังเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นคดีปกครอง
โจทก์ทำคำแถลงว่า การที่จำเลยที่ ๒ ละเลยไม่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ชัดเจน ก่อนจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยร่วม เป็นการกระทำทางกายภาพมิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีโจทก์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง
ศาลจังหวัดตรังพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ ให้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และทำบันทึกตกลงและจ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามอำนาจหน้าที่ ได้จ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ติดภาระจำนองอยู่กับโจทก์ให้แก่จำเลยร่วม (นายทวีศักดิ์ฯ) ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองทราบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ ๒ ไม่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ชัดเจนก่อนจ่ายเงินค่าทดแทน มูลละเมิดดังกล่าวจึงเกิดจากการกระทำทางกายภาพ มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบต้นฉบับโฉนดที่ดินที่จำเลยร่วม (นายทวีศักดิ์ ฯ) นำมาแสดงเพื่อขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน และไม่แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินมาขอรับชดใช้เงินค่าทดแทน เป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดด้วย จึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐กำหนดว่า ในกรณีที่มีการจำนองให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองมาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้เงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ดังนั้น หน้าที่ในการมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองมาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้ค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน จึงเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ รวมทั้งหน้าที่ในการตรวจสอบต้นฉบับโฉนดที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วยว่าเป็นที่ดินที่มีการจำนองหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะไม่อาจแจ้งให้ผู้รับจำนองทราบได้ คดีพิพาทดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
กรมทางหลวง จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นายวีระวัฒน์วีระพันธ์ จำเลยที่ ๒ หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ ให้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์บนทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๕ สายบางรัก-ควนขัน ตอนบ้านบางรัก-แยกต้นสมอ มีหน้าที่สำรวจทำแผนที่ จัดทำรายชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ กำหนดราคา ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสิทธิและมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนอง ผู้ทรงบุริมสิทธิ หรือผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิ มาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้จากเงินค่าทดแทน รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลงและจ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนจากทางหลวงสายดังกล่าว ได้จ่ายเงินค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสิทธิและมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนอง (ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)) โจทก์ในคดีนี้ มาขอรับเงินค่าเวนคืนดังกล่าว เป็นเหตุให้เจ้าของกรรมสิทธิ์รับเงินค่าเวนคืนไป จำนวน ๘๘๔,๓๖๘ บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีการจำนองให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองมาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้เงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขอรับชำระค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในจำนวนดังกล่าวได้ กรณีจึงถือว่าเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ระหว่าง ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) โจทก์ กับกรมทางหลวง ที่ ๑ นายวีระวัฒน์ วีระพันธ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่
ศาลปกครองสงขลา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share