คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3251/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีหน้าที่จัดการให้มีการส่งเทปรายการโทรทัศน์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้แก่สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 9 โดยเร็ว เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวมีเวลาตรวจสอบและนำออกอากาศได้ทันเวลา โจทก์หลงลืม จัดส่งเทปโทรทัศน์รายการ “แฟชั่นมิวสิค” ของจำเลยจนได้รับแจ้งจากผู้ช่วยผู้จัดการจำเลย โจทก์จึงรีบติดต่อจัดส่งเทป ดังกล่าวไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ก่อนกำหนดเวลาออกอากาศประมาณครึ่งชั่วโมง และเทปดังกล่าวถูกนำออกอากาศตามกำหนดเวลา เป็นเหตุให้จำเลยถูกสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจา การตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจาดังกล่าวเป็นเพียงการเตือนเพื่อป้องปรามมิให้เกิดเหตุทำนองนี้อีก และการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของโจทก์เพียงแต่ทำให้การออกอากาศรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ฉุกละหุกบ้างเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าหลังเกิดเหตุสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวก็ยังคงให้รายการ “แฟชั่นมิวสิค” ของจำเลยออกอากาศได้ตามผังรายการตลอดมา ความเสียหาย ที่จำเลยได้รับจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แม้จะมีอยู่บ้างในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ก็ไม่ถึงกับเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 97,680 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 1,628 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป กับให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 9,768 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดส่งเทปโทรทัศน์รายการ “แฟชั่นมิวสิค” ให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ได้ละเลยหน้าที่ไม่จัดส่งเทปรายการดังกล่าวให้แก่สถานีโทรทัศน์ภายในเวลาอันสมควรโดยอ้างว่าหลงลืม เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย แม้จะจัดส่งไปได้ทันเวลาออกอากาศ จำเลยก็ถูกสถานีโทรทัศน์ภาคทัณฑ์ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างใด ๆ แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,768 บาท พร้อมดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 ธันวาคม 2544) ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,628 บาท ค่าชดเชย 97,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่ วันผิดนัด (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544) และค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2536 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ประสานงานเป็นฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ มีหน้าที่ติดต่อประสานงานต่าง ๆ รวมทั้งรับผิดชอบการจัดส่งเทปรายการโทรทัศน์ไปให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 จำเลยมีหนังสือไล่โจทก์ออกจากงาน อ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลืมส่งเทปรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยมิได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง คดีมีปัญหาวินิจฉัย ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยถูกสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจาทำให้ชื่อเสียงของจำเลยเสียหายและความไว้วางใจของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ที่มีต่อจำเลยลดน้อยลง ถือเป็นความเสียหายร้ายแรงและอาจถูกนำไปพิจารณาไม่บรรจุรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ไว้ในผังรายการต่อไปนั้น ปัญหาดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 เวลา 18.18 นาฬิกา โจทก์ได้รับแจ้งว่าการตัดต่อแก้ไขเทปรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 เวลา 23.45 นาฬิกา เสร็จแล้ว โจทก์มีหน้าที่จัดการให้มีการส่งเทปดังกล่าวไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 โดยเร็วเพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 มีเวลาตรวจสอบและนำออกอากาศได้ทันเวลา แต่โจทก์หลงลืมจนเลิกงานในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 แล้วกลับบ้านไป จนเวลา 22.40 นาฬิกา ของวันเดียวกัน โจทก์ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยผู้จัดการจำเลย จึงรีบติดต่อให้จัดส่งเทปรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในเวลา 23.08 นาฬิกา ก่อนกำหนดเวลาออกอากาศประมาณครึ่งชั่วโมง และเทปดังกล่าวถูกนำออกอากาศตามกำหนดเวลา พฤติการณ์ของโจทก์ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยถูกสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจา เห็นว่า การตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจาดังกล่าวเป็นเพียงการเตือนเพื่อป้องปรามมิให้เกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นอีกและความประมาทเลินเล่อของโจทก์ก็เพียงแต่ทำให้การออกอากาศรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ครั้งนั้นเป็นไปโดยฉุกละหุกบ้างเท่านั้นส่วนที่จำเลยอ้างว่าผลการกระทำของโจทก์อาจจะถูกสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 นำไปพิจารณาเป็นเหตุที่จะไม่บรรจุรายการ “แฟชั่นมิวสิค” ไว้ในผังรายการต่อไปนั้น เห็นว่า เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น เพราะรายการโทรทัศน์ของจำเลยรายการใดจะได้รับการพิจารณาบรรจุลงในผังรายการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น รูปแบบของรายการที่จำเลยเสนอไปว่าน่าสนใจหรือไม่ โดยจะต้องแข่งขันกับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจเดียวกัน อีกทั้งปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ยังคงให้รายการ “แฟชั่นมิวสิค” ของจำเลยออกอากาศได้ตามผังรายการตลอดมา ดังนี้ ความเสียหายที่จำเลยได้รับจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังวินิจฉัย แม้จะนับว่ามีอยู่บ้างในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย แต่ไม่ถึงกับจะถือว่าเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้รับ ความเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .

Share