คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 มีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยทั้งสองเพียงบางประการ ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเอง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดระบุว่ากรณีมีการละเมิดและผิดสัญญาต่อบริษัท แม้บริษัทจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลภายนอก โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ก็หามีสิทธินำคดีมาฟ้องเองได้ไม่ ส่วนคำฟ้องที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะถูกโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องร้องได้หรือไม่เสียก่อน แม้คำฟ้องที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจะอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่บังคับตามสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แต่ตามคำขอของโจทก์ก็มิได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในส่วนนี้โดยตรง กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนและพิพากษาว่าสัญญาซื้อขาย นอกจากสัญญาข้อ 19 และข้อ 20 ยังคงมีผลบังคับใช้โดยชอบระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 ตลอดไป โดยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพิกถอนของบริษัทจำเลยที่ 1 และของบริษัทจำเลยที่ 2 ให้บริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทจำเลยที่ 3 ร่วมกันแสดงเจตนาเพิกถอนสัญญาจัดจำหน่าย ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ทั้งฉบับ หากบริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพิกถอนของบริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทจำเลยที่ 3 หากศาลฟังว่าไม่สามารถบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนสัญญาโอนกิจการฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 และให้บริษัทจำเลยที่ 2 จัดการโอนกิจการการประกอบ ผลิต นำเข้าและขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันตามสัญญาโอนกิจการดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้บริษัทจำเลยที่ 2 และที่ 4 ดำเนินกิจการ การประกอบผลิต นำเข้า ขายส่ง และขายปลีกรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสัน ไม่ว่าโดยตนเองหรือโดยตัวแทนของจำเลยดังกล่าวอีกต่อไป โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันและแทนกันเสียค่าใช้จ่ายในการโอน โดยบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนใด ๆหากบริษัทจำเลยที่ 2 ไม่โอนคืนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาโอนคืนของบริษัทจำเลยที่ 2 หากไม่สามารถพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการส่วนตัวที่ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียประโยชน์จากการที่บริษัทจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดจำหน่ายรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันดังกล่าวตลอดไป เป็นเงิน 5,031,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้จนกว่าจำเลยทั้งแปดจะได้ชำระเสร็จสิ้นให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเกิดมีขึ้นคิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพื่อประโยชน์แก่บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 5,161,883,687.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 5,161,883,687.20 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้น และค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเป็นเงินวันละ918,936.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนที่เกิดมีขึ้น จนกว่าจำเลยทั้งแปดปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเกิดขึ้นคิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพื่อประโยชน์แก่บริษัทจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 5,161,883,687.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเป็นเงินวันละ 918,936.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนที่เกิดมีขึ้น ทั้งนี้จนกว่าจำเลยทั้งแปดได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวแก่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกิดมีขึ้นคิดถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 5,161,883,687.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 5,161,883,687.20 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวแก่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกิดมีขึ้นคิดถัดจากวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 918,936.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 918,936.98 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดในการเตรียมการฟ้องคดีเป็นจำนวนเงิน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 2,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าทนายความนับถัดจากวันฟ้องไปจนถึงคดีถึงที่สุดจำนวน 7,500,000 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะที่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างเพราะข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างนั้นมีสาระสำคัญเป็นการตกลงกันในเรื่องการดำเนินกิจการระหว่างนิติบุคคลด้วยกันเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 และที่ 8 ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 ผิดสัญญาร่วมทุน แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิใช่คู่สัญญาในสัญญาร่วมทุน โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 จะหยิบยกข้อตกลงในสัญญาร่วมทุนขึ้นกล่าวอ้างฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 และที่ 8 ให้รับผิดตามฟ้องไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในฐานะคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผิดสัญญาหรือดำเนินกิจการของบริษัทให้เสียหายจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ใช่คู่สัญญาในฐานะส่วนตัวไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงผู้ถือหุ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 สัญญาร่วมลงทุนไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนแก่บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายสินค้านิสสันแต่เพียงผู้เดียวตลอดไปอย่างที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง สัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 กับบริษัทจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของสัญญาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทสยามกลการและนิสสัน จำกัด ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นเสริมสร้างฐานะทางธุรกิจให้แข็งแกร่งและส่งเสริมความเป็นสากลเพื่อให้บริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทสยามกลการและนิสสัน จำกัด เป็นฐานใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเซีย ในการผลิตและการทำตลาดรถยนต์ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน

โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8 ข้อแรกว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัท ไม่อาจดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนบริษัทได้เอง โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความว่าโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทในเครือจำเลยที่ 1 สองบริษัทซึ่งมีโจทก์ทั้งเจ็ดรวมอยู่ด้วย กับบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือจำเลยที่ 1 สองบริษัทได้ทำข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทเรียกว่าข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทมีสาระสำคัญว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือสองบริษัทจะยอมดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทในเครือทั้งสอง และยอมสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวเพื่อให้บริษัทจำเลยที่ 3 เข้ามาถือหุ้นในบริษัทในเครือทั้งสองในอัตราร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนของบริษัทในเครือทั้งสองและยอมให้มีการโอนกิจการประกอบ ผลิต นำเข้า และขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยี่ห้อนิสสันที่บริษัทจำเลยที่ 1 กระทำอยู่ให้แก่บริษัทในเครือทั้งสองภายใต้เงื่อนไขต่างตอบแทนว่า บริษัทในเครือทั้งสองต้องมีหน้าที่และความผูกพันตลอดไปในการขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งบริษัทจำเลยที่ 1 มีสิทธิตลอดไปในการเป็นผู้จัดจำหน่ายปลีกแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการทำสัญญาร่วมทุนเพื่อยืนยันข้อตกลงตามข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ลงนามในหลายฐานะ สาระสำคัญของสัญญามีว่า บริษัทจำเลยที่ 1 จะเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงช่องทางเดียวของบริษัทในเครือทั้งสอง โดยบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายปลีก และมีการทำสัญญาอีก 2 ฉบับ คือ สัญญาโอนกิจการเป็นการโอนกิจการประกอบ ผลิต นำเข้าและขายส่งรถยนต์นิสสันและชิ้นส่วนกับอะไหล่ที่บริษัทจำเลยที่ 1 กระทำอยู่ให้แก่บริษัทในเครือทั้งสองและสัญญาซื้อขาย เพื่อให้บริษัทในเครือทั้งสองขายส่งรถยนต์ยี่ห้อนิสสันและชิ้นส่วนกับอะไหล่ให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวตลอดไปต่อมาจำเลยทั้งแปดร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริตและผิดสัญญาโดยบริษัทจำเลยที่ 2 งดเว้นไม่ขายส่งรถยนต์ยี่ห้อนิสสันและชิ้นส่วนกับอะไหล่ให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 และบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่มีอยู่กับบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 1 งดเว้นไม่ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทจำเลยที่ 2 และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับให้บริษัทจำเลยที่ 2 ขายส่งรถยนต์ยี่ห้อนิสสันและชิ้นส่วนกับอะไหล่ให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อเรียกค่าเสียหายให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทและสัญญาร่วมทุนและบริษัทจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำสัญญาจัดจำหน่ายให้สิทธิจำเลยที่ 2 ในการขายปลีกรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันโดยไม่ผ่านบริษัทจำเลยที่ 1 และให้สิทธิจำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่อขายปลีกรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันได้ด้วย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 และของบริษัทจำเลยที่ 2 และกับจำเลยที่ 8กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ด้วย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงฟ้องคดีนี้ โดยระบุในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะคู่สัญญาในข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัท และโจทก์ที่ 1 กับที่ 7 ในฐานะคู่สัญญาในสัญญาร่วมทุนขอใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ เพื่อขอให้พิพากษาบังคับให้บริษัทจำเลยที่ 2 ขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสันทั้งหมดให้บริษัทจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวตลอดไป ขอให้พิพากษาเพิกถอนข้อสัญญาข้อ 19 และข้อ 20 ของสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2534 กับขอให้เพิกถอนสัญญาจัดจำหน่ายฉบับลงวันที่ 1มีนาคม 2534 กับขอให้เพิกถอนสัญญาจัดจำหน่ายฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538หากไม่สามารถพิพากษาตามคำขอดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาโอนกิจการฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 ให้บริษัทจำเลยที่ 2 จัดการโอนกิจการประกอบ ผลิต นำเข้าและขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนกับอะไหล่ยี่ห้อนิสสัน ตามสัญญาดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1หากไม่สามารถพิพากษาเพิกถอนสัญญาโอนกิจการได้ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 โดยเป็นค่าเสียหายในรายการต่าง ๆ รวมทั้งค่าเสียหายเป็นค่าทนายความในการเตรียมคดีและดำเนินคดีนี้เป็นเงิน 7,500,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอมาตามคำฟ้องโดยถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,202,883,687.20 บาท นั้น เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดบรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีในฐานะโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และในฐานะโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 ขอบังคับให้คู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนปฏิบัติตามสัญญา และขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายกับสัญญาจัดจำหน่ายตามฟ้อง รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งแปด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีนี้ก็ดีหรือการที่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีนี้ก็ดี จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินแทนบริษัทที่โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1ตามลำดับถือหุ้นอยู่ การฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งมีผลกระทบถึงการขอบังคับบุคคลภายนอกบริษัทดังกล่าวเช่นนี้ จึงเป็นการที่ผู้ถือหุ้นก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดก็ดี โจทก์ที่ 1 ก็ดี มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 ตามลำดับแต่อย่างไร โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2จึงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยทั้งสองดังกล่าวเพียงบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองไม่ได้เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดระบุว่ากรณีมีการละเมิดและผิดสัญญาต่อบริษัทแม้บริษัทที่โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นอยู่จะไม่ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลภายนอกก็ดี โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ก็หามีสิทธินำคดีมาฟ้องเองได้ไม่ ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากปัญหาว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 จะถูกโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องร้องได้หรือไม่เสียก่อน แม้คำฟ้องที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจะอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1ไม่บังคับตามสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แต่ตามคำขอของโจทก์ก็มิได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในส่วนนี้โดยตรง กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยดังกล่าวในข้อหานี้ด้วย ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดบรรยายฟ้องต่อไปว่า โจทก์ทั้งเจ็ดได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นคู่สัญญาในข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัท และโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 7 ในฐานะคู่สัญญาในสัญญาร่วมทุนด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำสัญญาดังกล่าวโดยมีข้อตกลงในสาระสำคัญว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1และของบริษัทในเครือทั้งสอง จะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทในเครือทั้งสองและยอมสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าว การเข้าเป็นคู่สัญญาของโจทก์ในสัญญาร่วมลงทุนจึงหาเกี่ยวข้องกับข้อตกลงในทางการค้าระหว่างฝ่ายจำเลยตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องไม่ การบรรยายฟ้องในฐานะคู่สัญญาดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดและเป็นเรื่องที่สืบเนื่องรองลงมาจากคำขอในส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นการอาศัยสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทมาก้าวล่วงฟ้องร้องคดีเพื่อบังคับบุคคลภายนอกบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อคดีฟังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องแล้วกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 8 ข้อต่อไปที่ว่า กรณีมีเหตุจะต้องนำคดีนี้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ แต่อย่างใดอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8ฟังขึ้น แม้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 จะไม่ได้ฎีกาแต่มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ได้”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด

Share