คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพ.ศ. 2497 องค์การโทรศัพท์โจทก์มีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์ และตามมาตรา 9 บัญญัติว่า เพื่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา 6 ให้องค์การโทรศัพท์มีอำนาจรวมถึง…(3) กำหนดอัตราค่าเช่า ค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ค่าบริหารอื่น ๆ ของกิจการโทรศัพท์และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าต่าง ๆ ดังกล่าว ดังนั้นการที่โจทก์เรียกค่าเช่าค่าบริการที่จำเลยค้างชำระจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ และเรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(7) สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ2 ปี ไม่ใช่อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 166.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลบยขอรับโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข259627 พร้อมหนี้สินทั้งปวงของผู้เช่าเดิมมาเป็นของจำเลย โจทก์ยินยอมให้จำเลยรับโอน ผู้เช่าเดิมค้างชำระค่าเช่าโทรศัพท์ เป็นเงิน24,618 บาท หลังจากจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่าแล้ว จำเลยค้างชำระค่าเช่าค่าบริการโทรศัพท์ เป็นเงิน 15,181 บาท รวมเป็นค่าเช่าค่าบริการที่ค้างชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน 39,799 บาท โจทก์ถือว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ ได้บอกเลิกสัญญาและงดให้บริการแก่จำเลยพร้อมกับรื้อถอนเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์กลับคืนและนำเงินประกันหนี้ที่ค้างชำระการใช้โทรศัพท์จำนวน 3,000 บาท ของจำเลยมาหักคงเหลือหนี้ที่จำเลยค้างชำระ 36,799 บาท โจทก์เสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2527 ถึงวันฟ้องเป็นเงินอีก 3,448 บาท ของศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,247 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 36,799 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลบยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคีดนี้ เพราะผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจและดำเนินคดีแทนโจทก์หนี้สินระหว่างโจทก์กับผู้เช่าเดิม ซึ่งเป็นหนี้กันตั้งแต่ปี 2525ถึงเดือนสิงหาคม 2526 นั้น โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบในขณะที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่า และจำเลยไม่เคยตกลงจะเป็นผู้รับชำระแทน และตามระเบียบปฏิบัติของโจทก์ในการโอนสิทธิการเช่านั้นในวันที่อนุมัติโอนหรือก่อนอนุมัติผู้เช่าเดิมหรือผู้เช่าใหม่จะต้องจัดการชำระหนี้สินที่ค้างเสียก่อนจึงจะโอนสิทธิการเช่ากันได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินส่วนนี้ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบว่าเป็นหนี้สินกันอย่างไร หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับความเป็นจริง หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีไม่เกิน500 บาท ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่บรรยายถึงรายละเอียดหนี้สินและที่มาแห่งหนี้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพ.ศ. 2497 และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 จำเลยได้ขอรับโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของผู้เช่าเดิมมาเป็นของจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม2526 และปรากฏว่าผู้เช่าเดิมได้ค้างค่าเช่าโทรศัพท์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2525 ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 และหลังจากจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่าแล้ว จำเลยนค้างชำระค่าเช่าค่าบริการโทรศัพท์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2526 ถึงเดือนมกราคม 2527 และเดือนเมษายน 2527ถึงเดือนสิงหาคม 2527 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ จึงเป็นการผิดสัญญาเช่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2528 มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าค่าบริการโทรศัพท์ดังกล่าวนั้น เป็นการฟ้องเรียกเงินอื่น ๆ ที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166หรือไม่ เห็นว่า นอกจากตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ซึ่งมีระบุไว้ในมาตรา 6แ ห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497แล้ว มาตรา 9 ยังได้ระบุว่า เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา 6 ให้องค์การโทรศัพท์มีอำนาจรวมถึง…ฯลฯ…(3) กำหนดอัตราค่าเช่า ค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ค่าบริการอื่น ๆ ของกิจการโทรศัพท์และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าต่าง ๆ ดังกล่าวดังนั้นการที่โจทก์เรียกค่าเช่าค่าบริการจากจำเลยจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ และเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา165(7) ดังนั้สสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ไม่ใช่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 166 ซึ่งเป็นเรื่องการเรียกเอาเงินค้างจ่ายคือเงินปี เงินเดือน เงินเบี้ยบำนาญ เงินค่าบำรุงรักษา หรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาเช่นเดียวกับข้างต้นเมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่าเช่าค่าบริการโทรศัพท์ซึ่งเกิดก่อนวันที่ 19 ธันวาคม 2526 จึงขาดอายุความศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share