คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แปลสัญญา มัดจำ เช่าทรัพย์ เช่าเหมืองทำ 2 แปลงในสัญญาใช้คำว่า “เหมืองรายนี้” คิดค่าเช่าจากจำนวนแร่ที่ขุดได้ ผู้เช่าทำแต่เหมืองเล็ก ไม่ทำเหมืองใหญ่ในกำหนดเวลา ถือว่าทำผิดสัญญาในข้อสัญญาไม่ปรากฎว่าให้เช่าช่วงให้ ผู้เช่าจะเอาไปให้เช่าช่วงไม่ได้ เงินมัดจำที่ให้ไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้นเมื่อทำผิดสัญญาก็ริบได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ให้จำเลยเช่าทำการขุดแร่ในเหมืองของโจทก์ 2 แปลงโดยมีเหมืองอื่นคั่นอยู่มิได้ติดต่อกัน ในสัญญาข้อ 11 ซึ่งให้เรียกเหมือง 2 แปลงนี้ว่า “เหมืองรายนี้” สัญญาข้อ 2 ว่า “โจทก์ให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเหมืองรายนี้โดยทางเช่า” ข้อ 3 ว่า”กำหนดเช่ากัน 10 ปี ค่าเช่าชัก 1 ใน 10 ของแร่ที่หาได้ ” ข้อ 9 ความว่า”จำเลยต้องเข้าทำการไม่เกินกว่า 4 เดือน”ข้อ 10 ความว่า “ถ้าไม่ทำการภายในกำหนดโจทก์เพิกถอนสัญญาได้ ” ข้อ 11 กำหนดวางเงินมัดจำกัน 1,000 บาท ซึ่งในข้อ 12 กล่าวว่าถ้าไม่ทำภายในกำหนดจะต้องถูกริบ
ต่อมาโจทก์ฟ้องขอเลิกสัญญา แลขอริบเงินมัดจำโดยกล่าวว่าโจทก์ไม่ได้เข้ากระทำการอย่างใด ๆ ในเหมืองรายใหญ่เลย แลจำเลยให้ผู้อื่นเช่าช่วงเหมืองแปลงเล็ก โดยมิได้รับอนุญาต
จำเลยต่อสู้ว่าที่ไม่ได้เข้าทำการในเหมืองแปลใหญ่นั้นเพราะโจทก์มิได้ขอใบสุทธิจำกัดจำนวนแร่ให้ ส่วนเหมืองแปลงเล็กนั้นต่อสู้ว่าตามสัญญา จำเลยมีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้
ศาลเดิมพิพากษาให้โจทก์เลิกสัญญาแลริบเงินมัดจำ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในข้อให้เลิกสัญญาแต่ให้ยกข้อหาเรื่องริบเงินมัดจำกล่าวว่าจำเลยได้ทำการระเบิดหินทำคูน้ำในเหมืองแปลงเล็กภายในกำหนดจำเลยไม่ได้ทำผิดสัญญา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในเรื่องที่จำเลยให้ผู้อื่นเช่าช่วงโดยโจทก์มิได้ยินยอมจำเลยเถียงว่าสัญญาข้อ 16 ลบล้างมาตรา 644 แล้ว สัญญาข้อ 16 นี้มีความว่า ถ้าเกิดมีคดีพิพาทแก่กัน ทั้งทางแพ่งทางอาชญาอันไม่เกี่ยวแก่ข้อสัญญานี้ก็ให้มีอำนาจฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมายฉะเพาะเรื่องนั้น จะถือเอาเหตุนี้มาเพิกถอนสัญญาฉะบับนี้ไม่ได้ เห็นว่าการที่จำเลยให้ผู้อื่นเช่าช่วงเหมืองแปลงเล็กนั้นจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นการไม่เกี่ยวแก่สัญญาฉะบับที่กล่าวไว้ในข้อ 16 เพราะจำเลยเช่าจากโจทก์ตามสัญญาโจทก์จึงฟ้องเลิกสัญญาได้ ไม่ต้องห้ามตามสัญญา ข้อ 16
ส่วนในเรื่องเหมืองแปลงใหญ่ที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ขอใบสุทธิให้จึงเข้าทำการหาแร่ไม่ได้ เพราะจะผิดต่อพ.ร.บ. จำกัดแร่ดีบุก พ.ศ.2474 ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาไม่ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่าจะต้องเป็นผู้ขอใบสุทธิให้จำเลย แล พ.ร.บ. ที่โจทก์อ้างก็เพิ่มออกภายหลังที่ได้ทำสัญญากันแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญาข้อ 1, 2, 9 แลข้อ 10 ค่าเช่าให้คิดจากจำนวนแร่ที่หาได้ จึงควรเข้าใจความในข้อ 9 ข้อ 10 ว่า จำเลยต้องเข้าทำประโยชน์ในเหมืองทั้ง 2 แปลงภายในกำหนดเวลา เมื่อจำเลยไม่ได้เข้าทำอะไรเลยในเหมืองแปลงใหญ่ภายในกำหนดตามสัญญาจำเลยจึงผิดสัญญาข้อ 9 โจทก์ริบมัดจำได้จึงพิพากษายืนตามศาลเดิม

Share