คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การให้รถยนต์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523ไม่มีกฎหมายบังคับว่าการให้ทรัพย์สินดังกล่าวต้องทำตามแบบกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังโจทก์ผู้รับแล้วหาจำต้องจดทะเบียนโอนกันเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมแต่อย่างใด ดังนั้นแม้ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์โจทก์ก็เป็นเจ้าของรถยนต์ที่โจทก์ขับในวันเกิดเหตุโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากละเมิดจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ-0036 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-2505 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2ซึงจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในธุรกิจการงานของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงพุ่งเข้าชนรถยนต์โจทก์ ทำให้รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 180,489 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ-0036 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-8205 กรุงเทพมหานคร ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-8205 กรุงเทพมหานคร เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน82,289 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยโจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดในต้นเงิน 69,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 68,789 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงิน 68,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่โจทก์ขับในวันเกิดเหตุมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียหายเพียงใด ในปัญหาโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า บิดาโจทก์ยกรถยนต์ให้โจทก์เมื่อประมาณ 2 ถึง 3 ปี ก่อนเกิดเหตุ แต่ยังไม่ได้โอนทะเบียนให้เมื่อโจทก์ไม่มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถ โจทก์จึงมิใช่เจ้าของรถผู้มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการซ่อมรถและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยเห็นว่า การให้รถยนต์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523ไม่มีกฎหมายบังคับว่าการให้ทรัพย์สินดังกล่าวต้องทำตามแบบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังโจทก์ผู้รับแล้ว หาจำต้องจดทะเบียนโอนกันเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์ โจทก์ก็เป็นเจ้าของรถยนต์ที่โจทก์ขับในวันเกิดเหตุ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว
สำหรับค่าเสียหายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ค่าศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าโจทก์ไม่ควรได้รับเพราะไม่ได้นำแพทย์มาสืบประกอบให้เห็นเป็นความจริง และกล้องถ่ายรูปไม่ปรากฎว่าเป็นกล้องชนิดอะไรเก่าหรือใหม่ จำเลยขอคิดให้เพียง 300 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเมื่อพิจารณาสภาพรถที่เสียหายแล้วปรากฎว่าถูกชนอย่างรุนแรง ย่อมเชื่อได้ว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่ใบหน้าตามภายถ่ายหมาย จ.7 จริง จึงจำเป็นต้องทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อรักษาให้เหมือนเดิม แม้โจทก์มิได้นำแพทย์มาสืบก็รับฟังเป็นความจริงได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 4,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนราคาค่ากล้องถ่ายรูปนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์ยอมรับว่าค่าเสียหายสำหรับกล้องถ่ายรูปเป็นเงิน 3,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายสำหรับกล้องถ่ายรูปจึงมีจำนวน 3,000 บาท หาใช่ 300 บาท ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาไม่ สำหรับค่าเสียหายอย่างอื่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share