คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุฟ้องหย่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1516 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยโดยอ้างเพียงว่า ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะจึงไม่เข้าเหตุฟ้องหย่าตามที่กฎหมายระบุไว้ ศาลจึงชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ และกรณีนี้ศาลไม่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) ขึ้นอ้างเพื่อพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันได้เพราะเป็นเรื่องที่ฟ้องโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสาวเสียมเค็ง แซ่ตั้งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2517 ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2518 โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากจำเลยขัดขืนไปปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลควรจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันเพราะการจดทะเบียนสมรสซ้อนเป็นโมฆะแม้โจทก์จะมิได้อ้างเหตุหย่ามาในคำฟ้องก็ตาม เห็นว่าเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วการที่โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยโดยอ้างเพียงว่าขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ จึงไม่เข้าเหตุฟ้องหย่าตามที่กฎหมายระบุไว้ ดังนั้นศาลจึงชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ และกรณีนี้ศาลไม่อาจยกข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) มาใช้ตามที่โจทก์ฎีกาได้เพราะเป็นเรื่องฟ้องโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายระบุไว้…”
พิพากษายืน.

Share