คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาการรับทุน ก.พ. เพื่อไปศึกษาวิชาในต่างประเทศถ้าจำเลยรับราชการไม่ครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงไว้ จำเลยจะต้องรับผิดใช้ทุน ก.พ.ที่โจทก์จ่ายไปแล้วรวมทั้งเบี้ยปรับโดยลดลงตามส่วนจำนวนเวลาที่จำเลยรับราชการชดใช้ไปบ้างแล้ว เว้นแต่ในกรณีซึ่ง ก.พ.และกระทรวงการคลังจะใช้ดุลพินิจเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อจำเลยออกจากราชการก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคำสั่งให้จำเลยออกจากราชการอันสืบเนื่องมาจากจำเลยแจ้งความประสงค์จะออกจากราชการไปเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยจะอ้างว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นออกคำสั่งให้จำเลยออกจากราชการ เพื่อให้จำเลยพ้นจากความรับผิดที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาการรับทุนหาได้ไม่ และแม้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีคำสั่งให้จำเลยออกจากราชการตามความในข้อ 10 และข้อ 24 แห่งกฎทบวง ฉบับที่ 2(พ.ศ.2519)ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพ.ศ. 2507 ประกอบด้วยมาตรา 96(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกรณีสั่งให้ออกจากราชการเมื่อข้าราชการผู้นั้นสมัครไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการก็ตามแต่จำเลยยังคงมีความผูกพันตามสัญญาการรับทุนดังกล่าว เมื่อ ก.พ.และกระทรวงการคลังยืนยันให้จำเลยรับผิดตามสัญญา อีกทั้งกรณีของจำเลยไม่ได้รับการยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน251,744.91 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สอบชิงทุนได้และได้ทำสัญญาการรับทุนกับโจทก์จริง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 31มกราคม 2526 ระหว่างรับราชการอยู่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม2525 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจได้ขอตัวจำเลยที่ 1 ไปรับการบรรจุทำงานเกี่ยวกับการออกแบบสะพานมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเพื่อไปบรรจุเข้าทำงานที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เมื่อจำเลยออกจากการเป็นข้าราชการแล้ว จำเลยก็เข้าทำงานที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตลอดมา คำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นดังกล่าวได้สั่งโดยอาศัยอำนาจของโจทก์ซึ่งระบุไว้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 ต้องออกจากราชการเพราะคำสั่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งอาศัยอำนาจของโจทก์ ถือว่าโจทก์เป็นผู้สั่งให้จำเลยออกจากราชการและโจทก์เป็นผู้ทำให้เกิดการผิดสัญญาขึ้นเอง จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะออกจากการรับราชการ แต่จำเลยที่ 1 จำต้องออกจากราชการเพราะมีคำสั่งให้ออกจึงเป็นการพ้นวิสัยและเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับทุนจากโจทก์ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศกลับมาแล้วลาออกจากราชการเพื่อรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง หรือขอลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือขอลาออกจากราชการตามความต้องการของรัฐบาลนั้น มีมติคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยไว้ว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการผ่อนผันไม่ต้องชดใช้เงินตามสัญญา จำเลยที่ 1 มิใช่ลาออกจากราชการ แต่เป็นเรื่องที่ทางราชการสั่งให้จำเลยออกจากราชการจะถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดสัญญาเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์จำนวน 251,744.91 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ให้ไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาโครงสร้างระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาตามความต้องการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะเข้ารับราชการในกระทรวงทบวง กรม ที่โจทก์กำหนด โดยจะต้องรับราชการต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ศึกษาวิชาในต่างประเทศ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมเข้ารับราชการตามที่โจทก์กำหนดจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ทุน ก.พ.ที่โจทก์ได้จ่ายไปทั้งสิ้นกับใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับทุน ก.พ.ดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 รับราชการไม่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1ยอมรับผิดใช้ทุน ก.พ.ที่โจทก์จ่ายไปแล้วรวมทั้งเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งดังกล่าวโดยลดลงตามส่วนที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้โดยมีนางยื้อเป็นผู้ค้ำประกันปรากฏตามสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2จำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาอยู่เป็นเวลา 2,200 วัน และใช้ทุน ก.พ.ไปรวมเป็นเงินไทย 2,057 บาท และเป็นเงินสหรัฐอเมริกา24,181.17 ดอลลาร์ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการชดใช้ทุน ก.พ.มีกำหนด 4,400 วัน เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับมาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2516 ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปช่วยปฏิบัติงานที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 1 ปี และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือขอตัวจำเลยที่ 1 ไปบรรจุเป็นพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือขอตัวเอกสารหมาย จ.24 แผ่นที่ 2มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ขัดข้อง และได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ตามเอกสารหมาย จ.8 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกแสดงความประสงค์ขอให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นพิจารณาอนุมัติและสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเพื่อไปบรรจุเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยด้วย จำเลยที่ 1รับราชการไม่ครบ 4,400 วัน ยังขาดอยู่ 990 วัน โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับโดยลดลงตามส่วนที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ไปบ้างแล้วเป็นเงินรวม 251,744.91 บาท
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการตามเอกสารหมาย จ.8 แสดงว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ควรได้รับการยกเว้นโดยไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.26 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า จำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะขอไปปฏิบัติงานที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปขอให้อธิการบดีพิจารณาอนุมัติและสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเพื่อไปบรรจุเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อไปต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2526 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการตามเอกสารหมาย จ.8 เห็นได้ว่าการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการก็สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทำบันทึกแจ้งความประสงค์จะออกจากราชการไปเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.26จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1ออกจากราชการ เพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดที่จำเลยที่ 1มีต่อโจทก์ตามสัญญาการรับทุนเอกสารหมาย จ.1 หาได้ไม่ แม้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการตามความในข้อ 10 และข้อ 24 แห่งกฎทบวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519)ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพ.ศ. 2507 ประกอบด้วยมาตรา 96(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกรณีสั่งให้ออกจากราชการเมื่อข้าราชการผู้นั้นสมัครไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ยังคงมีความผูกพันตามสัญญาการรับทุน เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 และข้อ 7 กล่าวคือ ถ้าจำเลยที่ 1 รับราชการไม่ครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงไว้จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ทุน ก.พ.ที่โจทก์จ่ายไปแล้วรวมทั้งเบี้ยปรับโดยลดลงตามส่วนจำนวนเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ไปบ้างแล้วเว้นแต่ในกรณีซึ่ง ก.พ. และกระทรวงการคลังจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ทั้ง ก.พ.และกระทรวงการคลังยืนยันให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญา อีกทั้งกรณีของจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.14 ที่จะไม่ต้องชดใช้เงินฐานผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ออกจากราชการก่อนครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share