คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีแรงงานนั้นศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงใดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับคำให้การของจำเลยด้วยว่า จำเลยให้การต่อสู้อย่างไร หากจำเลยให้การเป็นหนังสือก็ต้องนำ ป.วิ.พ. มาบังคับใช้โดยอนุโลม หามีบทบัญญัติใดให้สิทธิแก่จำเลยที่จะนำสืบพยานนอกเหนือข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบตามโจทก์อ้างดังนี้การที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์ทุกคนสมัครใจให้จำเลยหักเงินเพื่อบริจาคแก่นักเรียนนั้น จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยมีกิจการโรงเรียน คือ โรงเรียนวรดิตถ์วิทยาประสูทน์ โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยเป็นครูสอนนักเรียน จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานโดยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนตามวุฒิที่สำเร็จการศึกษามา ค่าจ้างสอนให้โจทก์ทั้งห้าไม่ครบ จำเลยได้หักเงินเดือนของโจทก์ทั้งห้าในส่วนที่จ่ายขาดไปดังกล่าวไว้โดยไม่ชอบและไม่มีมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้ ขอให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน81,135.20 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 75,033.10 บาท โจทก์ที่ 3 ที่ 4เป็นเงินคนละ 42,080 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 16,065.20 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง หลักฐานการรับเงินจะได้เสนอในชั้นพิจารณา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างโจทก์แต่ละคนตามเอกสารท้ายฟ้องจริง จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่ามิได้จ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะหยิบยกเหตุผลอื่นขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อไป พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทุกคนตามฟ้องจริง ส่วนประเด็นอายุความนั้นกรณีนี้เป็นการเรียกเอาเงินค่างจ่ายคือ เงินเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ซึ่งมีอายุความ 5 ปี โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงมีสิทธิเรียกเงินเดือนที่ค้างจ่ายย้อนหลังนับแต่วันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี เท่านั้น ส่วนเงินเดือนของโจทก์ที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ค้างจ่ายมาไม่เกิน 5 ปี จึงมีสิทธิเรียกร้องได้เต็มตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าคงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 23,092 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,448 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 42,980 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 42,980 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 16,065.20 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ยินยอมรับค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิ โดยยอมให้ทางโรงเรียนนำค่าจ้างที่หักไว้ไปใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่จำเลยหักไว้ โดยอ้างเหตุที่ไม่รับฟังว่าเพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่าไม่ได้จ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่โจทก์กล่าวอ้างหาได้ต่อสู้คดีตามที่นำสืบไม่ และไม่มีประเด็นที่จำเลยจะหยิบยกเหตุผลอื่นขึ้นปฏิเสธความรับผิดอีกต่อไป เนื่องจากไม่ได้กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงเหล่านั้นไว้ในคำให้การมาก่อน การไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวของศาลแรงงานกลางเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงใดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับคำให้การของจำเลยด้วยว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างไร แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานกลางได้มีพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 31 ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ นั้นโดยอนุโลม ในกรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้บัญญัติไว้ ก็ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ไม่ได้บังคับว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การ ในกรณีที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 39วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลบันทึกคำให้การของจำเลย และมาตรา 39 วรรคสองถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ให้ศาลบันทึกไว้ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับเมื่อจำเลยไม่ให้การเป็นหนังสือหรือไม่ยอมให้การเท่านั้นหาใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะนำสืบพยานนอกเหนือข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คดีนี้จำเลยได้ให้การเป็นหนังสือจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ จำเลยจะต้องให้การต่อสู้โดยชัดแจ้งข้อเท็จจริงใดที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ถ้าจำเลยจะปฏิเสธจะต้องให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสอนให้โจทก์ไม่ครบ จำเลยให้การว่าไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง จำเลยหาได้ให้การต่อสู้ไม่ว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์สมัครใจให้จำเลยหักเงินเป็นค่าบริจาคแก่นักเรียน ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์ทุกคนสมัครใจให้จำเลยหักเงินเพื่อบริจาคแก่นักเรียนนั้น จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทศาลแรงงานกลางไม่รับฟังข้อเท็จจริงนี้ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share