คำวินิจฉัยที่ 6/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๕

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๒ นางพัทยา กิตติเวช โจทก์ ยื่นฟ้องพลตำรวจเอก ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๑ นางชัชชมา สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๒ นายวิชัย เลิศพัฒนพันธุ์ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๕/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๗๙ ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๙๙ ตารางวา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ด้านทิศตะวันออก ก่อสร้างบ้านลงบนที่ดินของตนโดยเว้นระยะห่างขอบนอกไม่ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงสมคบกับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นช่างรังวัดที่ดินที่มาทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างกับโจทก์ว่า โจทก์ก่อสร้างรั้วด้านทิศตะวันตกไม่ถึงแนวเขตที่ดิน และให้โจทก์ขยับเสาหลักเขตรั้วออกไปอีก ๑๐ เซ็นติเมตร ทั้ง ๆ ที่โจทก์สร้างรั้วไว้ถูกต้องตามแนวเขตเดิมอยู่แล้ว โดยมีเจตนาจะให้ที่ดินของโจทก์ฝั่งทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ ๐.๔ ตารางวา ตกเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อันเป็นผลให้การก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีระยะขอบนอกถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ โจทก์ยื่นเรื่องขอสอบเขตที่ดินอีกครั้ง โดยมีนายประวิทย์ คงนาคา นายช่างรังวัดที่ดินเป็นผู้ดำเนินการรังวัดสอบเขต นายประวิทย์รังวัดที่ดินได้ ๑๙๙.๕ ตารางวา โดยยืนยันรูปแผนที่ดินของโจทก์ตามที่ จำเลยที่ ๓ ได้รังวัดไว้ ส่วนเนื้อที่เพิ่มมา ๐.๕ ตารางวานั้น เป็นเนื้อที่ดินพิพาท ๐.๔ ตารางวา บวกกับที่ดินมุมปาดที่จำเลยที่ ๓ ปักเสาหลักเขตไว้อีก ๐.๑ ตารางวา จากการรังวัดที่ดินของนายประวิทย์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๓ รังวัดที่ดินของโจทก์รุกล้ำที่ดินสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรรทั้งสองด้านคือ ด้านซอยแจ้งวัฒนะ ๑๔ เนื้อที่ ๐.๔ ตารางวา และที่มุมปาดมุมซอยเกษตร ๐.๑ ตารางวา โดยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ของจำเลยที่ ๓ ที่ได้กระทำไว้ในโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยให้มีผลถึงการเพิกถอนการรังวัดสอบเขตและรูปแผนที่ต้นร่างที่กระทำโดยนายประวิทย์ คงนาคา ด้วย และให้ศาลมีคำสั่งเป็นหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง ดำเนินการรังวัดสอบเขตและให้ปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์เสียใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิดต่อโจทก์อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ ๓ ในการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ และจัดทำรูปแผนที่ไว้ในโฉนดที่ดินของโจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ที่จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดทำนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง และการพิจารณาว่าคดีที่ฟ้องนั้นเป็นคดีประเภทใด อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดต้องพิจารณาจากข้อกล่าวหาที่บรรยายมาในคำฟ้องและคำขอที่โจทก์ขอให้มีการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นหลัก โดยต้องพิจารณาว่าประเด็นพิพาทใดเป็นประเด็นพิพาทหลักของคดีที่จะทำให้คดีเสร็จไปจากศาล คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๗๙ แขวงทุ่งสองห้อง (สีกัน) เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นช่างรังวัดที่ดินที่มาดำเนินการรังวัดได้สมคบกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างว่า โจทก์ก่อสร้างรั้วด้านทิศตะวันตกไม่ถึงแนวเขตที่ดิน และให้โจทก์ขยับเสาหลักเขตรั้วออกไปอีก ๑๐ เซ็นติเมตร ทั้งที่โจทก์ได้สร้างรั้วไว้ถูกต้องตามหลักเขตเดิมโดยมีเจตนาที่จะตัดที่ดินด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ ๐.๔ ตารางวา ของโจทก์ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นผลให้อาคารที่ก่อสร้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีระยะขอบนอกของอาคารถึงเขตที่ดินถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมายการดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และทำให้ที่ดินของโจทก์ไปรุกล้ำที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรร จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ของจำเลยที่ ๓ ที่ได้กระทำไว้ในที่ดินของโจทก์ โดยให้มีผลถึงการเพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ต้นร่างที่กระทำโดยนายประวิทย์ คงนาคา ด้วย และให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตและปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เห็นว่า จำเลยที่ ๓ เป็นข้าราชการในสังกัดกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ได้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตอันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ที่จำเลยที่ ๓ ดำเนินการและให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตและปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยมุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีคำขอให้เพิกถอนผลการรังวัดสอบเขตของจำเลยที่ ๓ และให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยไม่มีกรณีที่ศาลต้องชี้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด และแม้ว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีตามความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของศาลแพ่ง หากมีอยู่จริงศาลปกครองก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ เพราะเมื่อคดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นประเด็นข้อเท็จจริงหนึ่งในคดีได้ และเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยในชั้นการพิจารณาเนื้อหาของคดี และถึงแม้ว่าการพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันได้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นช่างรังวัดที่ดินดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต กล่าวอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างรั้วด้านทิศตะวันตก ไม่ถึงแนวเขตที่ดิน และให้โจทก์ขยับเสาหลักเขตรั้วออกไปอีก ๑๐ เซ็นติเมตร โดยมีเจตนาที่จะตัดที่ดินด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ ๐.๔ ตารางวา ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออก เพื่อให้อาคารที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก่อสร้างมีระยะขอบนอกอาคารถึงเขตที่ดินถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย ทำให้ที่ดินของโจทก์ไปรุกล้ำที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรร ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและรูปแผนที่ของจำเลยที่ ๓ และให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตและให้ปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ศาลเพิกถอนผลการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินให้ถูกต้อง คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด ดังนั้นข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพัทยา กิตติเวช โจทก์ พลตำรวจเอก ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๑ นางชัชชมา สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๒ นายวิชัย เลิศพัฒนพันธุ์ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share