คำวินิจฉัยที่ 7/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๕๕

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทดับบลิวไอซี จำกัด ที่ ๑ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๑๔๙/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๐ โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เป็นเงินจำนวน ๕,๙๙๐,๐๐๐ บาท โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ ๑ เป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๕๙๙,๐๐๐ บาท แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยส่งมอบงานไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำโปรแกรมและเครื่องคอมพิวเตอร์เครือข่าย รวมทั้งเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ไปใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการส่งมอบงานตามสัญญา ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ มีหนังสือขอให้โจทก์ขยายเวลา แต่โจทก์ไม่เห็นสมควรให้ขยายเวลา เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงินจำนวน ๑,๐๓๖,๒๗๐ บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน ๑,๗๓๖,๑๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๐๓๖,๒๗๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การเลิกสัญญาของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เกิดขึ้นโดยมิใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นความผิดของโจทก์เอง และโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง นอกจากนี้การเลิกสัญญาของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิติกรรมอันเกิดจากการกระทำระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ประกอบกับจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งจำเลยที่ ๒ ว่า มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อีกทั้งจำเลยที่ ๒ มิได้มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นของโจทก์ทำความเสียหายให้แก่โจทก์จริง โจทก์จะต้องไปบังคับชำระหนี้เอากับลูกหนี้ของโจทก์ก่อน คดีขาดอายุความ ค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่นอกเหนือความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ ๒ ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และจำนวนค่าเสียหายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาว่าจ้างที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการจัดจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการแก่ประชาชนหรือสมาชิกของโจทก์ที่ติดต่อกับโจทก์เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วและสามารถใช้กับงานของโจทก์ได้ทุกระบบครบวงจรโดยไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยจำเลยจะต้องทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของโจทก์หลังทำการพัฒนาระบบโปรแกรมแล้วเสร็จ ทั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นก็จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อให้ทันต่อการให้บริการประชาชน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ อันเป็นมูลเหตุพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ คดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมแนะนำและเผยแพร่การสหกรณ์ให้ความรู้หลักการแก่บุคลากร กลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ในสถานที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สัญญาจ้างดังกล่าวที่มีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมและอุปกรณ์เพื่อให้โจทก์มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยใช้ในการปฏิบัติงานให้มีความสะดวกรวดเร็ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นกรมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ฯลฯ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำ การที่โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ให้พัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานเป็นเครื่องมือในการให้บริการแก่ประชาชนหรือสมาชิกของโจทก์ที่ติดต่อกับโจทก์เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้งานของโจทก์ได้ทุกระบบครบวงจรโดยไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ รวมทั้งต้องมีการปรับปรุงพัฒนาโปรแกรมอยู่ตลอด เพื่อให้ทันต่อการให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นประโยชน์และเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการให้บริการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ให้บรรลุผล ดังนั้น สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ พัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเช่นกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ (๑๑) ภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ฯลฯ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผิดสัญญาว่าจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ขอให้ รับผิดตามสัญญา ส่วนจำเลยที่ ๑ให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ คดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาว่าจ้างพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ มีสาระสำคัญให้จำเลยที่ ๑ พัฒนาโปรแกรมระบบงานสหกรณ์และติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่หน่วยงานโจทก์ เพื่อนำไปติดตั้งใช้งานที่สหกรณ์ สามารถรวบรวมและเรียกใช้ข้อมูลของสหกรณ์ประเภทที่โจทก์ต้องการได้ผ่านโปรแกรมระบบงาน โดยจำเลยที่ ๑ จะต้องจัดส่งและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับระบบงานทุกระบบ ตลอดจนเดินสายเชื่อมโยงเครือข่ายและการติดต่อสื่อสารในระบบงานสหกรณ์ของโจทก์ให้ใช้งานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้โจทก์มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจในการดำเนินบริการสาธารณะของโจทก์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้งานได้ทุกระบบครบวงจร การพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ให้บรรลุผล สัญญาว่าจ้างพัฒนาโปรแกรมและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ ก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ โจทก์ บริษัทดับบลิวไอซี จำกัด ที่ ๑ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์/คัดทาน

Share