แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๕
วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ นางวนิดา กุลยดุลย์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๕๒ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๙๘/๒๕๕๒ ซึ่งอธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกันโดยให้สำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๕๒ เป็นสำนวนหลัก ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๕๓๑ ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ – ๓ – ๔๒ ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีแนวรั้วล้อมรอบโดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ และได้ครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ตำบลบางกะปิฝั่งใต้ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้านทิศเหนือติดถนนซอยพร้อมจิตร (สุขุมวิท ๓๓) ในส่วนที่กั้นเขตไว้เป็นรั้วล้อมรอบที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ตารางวา มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ซึ่งผู้ฟ้องคดีครอบครองและก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวออกไป ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือที่ กท ๘๕๐๓/๘๑๘๓ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ บริเวณที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองได้มีการจดภาระจำยอมเรื่องทางเดินตามคำขอฉบับที่ ๖๐/๕๒๓ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งประชาชนใช้สัญจรมาเป็นเวลานานกว่า ๖๒ ปี ถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่อาจเพิกถอนคำสั่งเดิมได้ และเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า เป็นการรุกล้ำที่สาธารณะจริง จึงให้ยกอุทธรณ์และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ แต่ที่ดินพิพาทดังกล่าวผู้ฟ้องคดีครอบครองใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ และครอบครองใช้ประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของมาแล้วกว่า ๒๐ ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ฟ้องคดีด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือที่ กท ๘๕๐๓/๖๗๑๘ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ และที่ กท ๘๕๐๓/๘๑๘๓ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามหนังสือที่ กท ๘๕๐๓/๓๖๖๐ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้ามาขัดขวางหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า สำนักงานเขตวัฒนาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีประชาชนขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงซอยพร้อมจิตร ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบมีความกว้างไม่ถึง ๑๐ เมตร จากการตรวจสอบพบว่าซอยพร้อมจิตร มีการจดเป็นทางภาระจำยอม ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เรื่องทางเดินมีความกว้าง ๑๐ – ๑๒ เมตร ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อประชาชนใช้สัญจรร่วมกัน โดยมีประชาชนได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำแนวเขตทางสาธารณะจำนวน ๔ ราย โดยรายของผู้ฟ้องคดีมีการก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ มุมด้านตะวันออกมีระยะ ๒ เมตร และมุมด้านตะวันตกมีระยะ ๒.๘๔ เมตร จึงมีคำสั่งให้รื้อถอนและทำให้ทางสาธารณะกลับสู่สภาพเดิม ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะขอให้เพิกถอนคำสั่งอันเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทมิได้เป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองอยู่ จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๕๓๑ ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ – ๓ – ๔๒ ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีแนวรั้วล้อมรอบโดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ และได้ครอบครองบางส่วนของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ตำบลบางกะปิฝั่งใต้ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒๐ ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของผู้มีชื่อโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า ๑๐ ปี บางส่วนของที่ดินแปลงนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบมาตรา ๖๙ (๑) และมาตรา ๘๙ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มีหนังสือที่ กท ๘๕๐๓/๖๗๑๘ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และทำถนนให้กลับอยู่สภาพเดิมภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และความผิดตามมาตรา ๓๖๐ และมาตรา ๓๖๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่สาธารณะ ด้านทิศตะวันออกประมาณ ๒ เมตร และด้านทิศตะวันตกประมาณ ๒.๘๔ เมตร การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้คดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ กท ๘๕๐๓/๖๗๑๘ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ และที่ กท ๘๕๐๓/๘๑๘๓ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ พร้อมกับห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้ามาขัดขวางหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำการรบกวนสิทธิในทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคล ภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า รั้วพิพาทปลูกสร้างในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือปลูกสร้างในที่สาธารณะ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้และศาลปกครองก็ได้นำบทบัญญัติในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองหลายกรณี เช่นการวินิจฉัยเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่คู่สัญญาต้องรับผิดในการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองหรือการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองเท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และไม่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของคดีปกครอง ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเพียงหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะตามมาตรา ๘๙ (๑๐) และมาตรา ๖๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้ทรงสิทธิหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท ข้อพิพาทในทำนองนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีคำสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนรื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กที่รุกล้ำที่สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินที่มีคำสั่งให้รื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบถึงการไม่เพิกถอนคำสั่งให้รื้อถอนดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่ง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งคำสั่งยกอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเหล่านั้นโดยโต้แย้งว่าที่ดินที่มีคำสั่งให้รื้อถอน รั้วที่รุกล้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของตน มิใช่ที่สาธารณะดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การนั้น เป็นเรื่องที่มีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้ามาขัดขวางเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ ตำบลบางกะปิฝั่งใต้ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ตารางวา ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตนนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คือศาลยุติธรรม ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๕๙ ตำบลบางกะปิฝั่งใต้ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้านทิศเหนือติดถนนซอยพร้อมจิตร (สุขุมวิท ๓๓) ในส่วนที่กั้นเขตไว้เป็นรั้วล้อมรอบที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ตารางวา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหรือรอนสิทธิมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองเป็นทางสาธารณประโยชน์ ให้ดำเนินการรื้อถอนรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กของผู้ฟ้องคดีออกไป ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงแจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินพิพาทมีการจดภาระจำยอมเรื่องทางเดินตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และประชาชนใช้สัญจรนานกว่า ๖๒ ปี ถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจเพิกถอนคำสั่งได้ และเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยแล้ว เห็นว่าการสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กของผู้ฟ้องคดีเป็นการสร้างรั้วรุกล้ำที่สาธารณะจริง จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ แต่ที่ดินพิพาทดังกล่าวผู้ฟ้องคดีครอบครองใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ และครอบครองใช้ประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของมาแล้วกว่า ๒๐ ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ฟ้องคดีด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้ามาขัดขวางหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า สำนักงานเขตตรวจสอบพบว่าซอยพร้อมจิตรมีการจดเป็นทางภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้ประชาชนใช้สัญจรร่วมกัน แต่มีประชาชนก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำแนวเขตทางสาธารณะจำนวน ๔ ราย รวมทั้งรายผู้ฟ้องคดี จึงมีคำสั่งให้รื้อถอนและทำให้ทางสาธารณะกลับสู่สภาพเดิม เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวนิดา กุลยดุลย์ ผู้ฟ้องคดี กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน