แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กล่าวคำว่า เขาว่าครูชาติหมาสอนให้เด็กชกต่อยกัน ดังนี้ไม่เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทตามมาตรา 282
ถ้อยคำที่กล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น ศาลเป็นผู้พิจารณาความหมายได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบแสดงความหมาย
ถ้าในฟ้องไม่ได้แสดงว่า คำที่จำเลยกล่าวมีความหมายเป็นพิเศษแล้ว ศาลก็ถือว่าเป็นคำกล่าวตามธรรมดาสามัญ
ย่อยาว
จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า “อ้ายครูกำจร ครูชาติหมา สอนให้เด็กชกต่อยกัน” โจทก์ฟ้องว่า คำกล่าวนั้นอาจทำให้นายกำจรเสียชื่อเสียงและให้ค้นทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังได้ ขอให้ลงโทษตาม มาตรา ๒๘๒ จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำที่กล่าวมานั้นไม่เป็นหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๒ ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.
ศาลฎีกา, ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อันถ้อยคำที่บุคคลกล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น จะมีความหมายอย่างไรคนธรรมดาจะเข้าใจได้ ศาลย่อมรู้ได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบ เว้นแต่โจทก์จะกล่าวหาว่า ถ้อยคำนั้นมีความหมายเป็นพิเศษ คดีตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวถ้อยคำตามธรรมดาสามัญ เมื่อพิเคราะห์คำที่จำเลยกล่าวแล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่กล่าวนอกจากเป็นคำหยาบแล้ว มีความหมายเพียงว่า ครูสอนให้เด็กชกกัน ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่เห็นเป็นการใส่ร้ายอย่างใด จึงไม่เป็นผิดตาม มาตรา ๒๘๒ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่าง