คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยประพฤติตนไม่เหมาะสมมาก่อนแล้วหลายครั้งหลายหน ซึ่งการประพฤติตนดังกล่าวหาได้ถูกล้างไปตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ไม่ จำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการต้นสังกัดของโจทก์จึงสามารถนำเอาความประพฤติชั่วของโจทก์ในครั้งก่อน ๆ มาพิจารณาประกอบความประพฤติที่ไม่สมควรในครั้งหลัง และถือว่าโจทก์ประพฤติไม่สมควรและประพฤติชั่วหลายครั้งหลายหน ไม่เข็ดหลาบ เป็นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ปลดโจทก์ออกจากราชการได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการทหาร และเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพราะยกเอาความผิดเท่า ๆ ของโจทก์ซึ่งได้รับนิรโทษกรรมแล้วมาเป็นสาเหตุให้ออกคำสั่งดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งและชดใช้ค่าเสียหายกับให้ชำระเงินเดือนที่ยังค้างชำระ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ เนื่องจากบกพร่องในความประพฤติอย่างร้ายแรงหลายครั้งหลายคราวไม่ได้ยกเหตุความผิดที่โจทก์ถูกลงทัณฑ์ด้วยการภาคทัณฑ์และทำทัณฑ์บนไว้มาพิจารณาคำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดแต่โจทก์ยังรับเงินเดือนไปจากจำเลยไม่ครบ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน ๖,๓๐๕ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนายทหารประจำการกองทัพบกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๑ ขณะที่โจทก์ประจำการอยู่ที่สถานพักผ่อนกองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก ราษฎรบ้านแพนอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีหนังสือร้องเรียกต่อผู้บัญชาการทหารบกกล่าวหาโจทก์ว่า อาศัยอิทธิพลของเครื่องแบบและอ้างกลุ่มนวพล เรียกร้องค่าคุ้มครองในการเดินรถยนต์โดยสารสายอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงกรุงเทพมหานครเจ้ากรมพลาธิการทหารบกได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน ได้ความว่าพฤติการณ์ของโจทก์มีมูลความจริง ผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องและให้กรมพลาธิการทหารบกสอดส่องดูแลมิให้โจทก์มีการกระทำในทำนองดังกล่าวอีก ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๑ หน้า ๙ ต่อมาโจทก์ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มต่าง ๆ อีก เจ้ากรมพลาธิการทหารบกจึงสั่งให้กรมสารวัตรทหารบกตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงคณะกรรมการดังกล่าวสืบแล้วได้ความว่า โจทก์สนับสนุนการเดินรถยนต์โดยสารสายบางปูถึงเอกมัย โดยมีอักษรข้างรถว่า สวัสดิการครอบครัวทหารบางปู ประพฤติตนเป็นธุระอำนวยความสะดวกแก่รถยนต์โดยสารที่ผิดกฎหมาย โดยใช้ชื่อว่า นวพลอดิศร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยาผู้แทน บก.นวพลส่วนหน้า ผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้ลงทัณฑ์โจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และให้ทำทัณฑ์บนไว้ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๑ หน้า ๑๐๓ เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กรมการทหารช่าง จังหวัดราชบุรี โจทก์ถูกร้องเรียนว่า โจทก์อ้างตัวเป็นเลขาธิการนวพลหลอกลวงประชาชน จัดอุปสมบทหมู่โดยอ้างชื่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่าเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานพิธีอุปสมบทหมู่ และมีนวพลรบอดิศร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการจัดงาน กรมการทหารช่าง จังหวัดราชบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ความว่า โจทก์ใช้ชื่อนวพลรบอดิศร เสนีย์วงศ์ณ อยุธยา อ้างชื่อผู้บังคับบัญชาเป็นกรรมการที่ปรึกษาในพิธีอุปสมบทหมู่ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติไม่สมควร เป็นการผิดวินัยทหาร จึงลงทัณฑ์กัก ๓ วันโจทก์ได้รับทัณฑ์ดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อเจ้ากรมการทหารช่างจังหวัดราชบุรี เสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาเจ้ากรมกำลังพลทหารบกได้เสนอให้เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์ว่า จะเข้าเกณฑ์ที่จะฟ้องดำเนินการตามทัณฑ์บนหรือไม่ เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ทำผิดเงื่อนไขในทัณฑ์บน ไม่อาจปลดออกจากราชการได้ เจ้ากรมกำลังพลทหารบกเสนอให้เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาถึงพฤติการณ์ของโจทก์ที่ประพฤติไม่สมควรหลาย ๆ ครั้ง แม้จะเป็นเรื่องคนละกรณีว่าจะเข้าเกณฑ์ต้องปลดออกจากราชการตามแบบธรรมเนียมใด ๆ ของกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกได้กำหนดไว้หรือไม่ ในที่สุดเจ้ากรมกำลังพลทหารบกและเจ้ากรมสารบรรณทหารบกเห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่ควรจะให้อยู่ในสังคมทหารอีกต่อไป เห็นควรปลดออกจากราชการ จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประพฤติตนโดยไม่ชอบมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้จนกระทั่งถูกผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสั่งให้สอดส่องดูแลความประพฤติของโจทก์ ต่อมาโจทก์ก็ยังประพฤติตนโดยไม่ชอบทำนองเดียวกันอีก ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งให้ลงทัณฑ์โดยการภาคทัณฑ์และทำทัณฑ์บนไว้ ต่อมาโจทก์ยังได้แอบอ้างชื่อผู้บัญชาการทหารบกและผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจัดพิธีอุปสมบทหมู่อีก พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และการที่โจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมดังกล่าวก่อนคดีนี้หาได้ถูกล้างไปตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๕ ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้มีผลแต่เพียงว่าไม่เคยทำผิดวินัยเท่านั้น จำเลยสามารถนำเอาความประพฤติชั่วของโจทก์ในครั้งก่อน ๆ มาพิจารณาประกอบได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ประพฤติไม่สมควรและประพฤติชั่วหลายครั้งหลายหน ไม่เข็ดหลาบทั้ง ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาให้โอกาสแก่โจทก์แล้ว กรณีถือได้ว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เข้าหลักเกณฑ์ให้ปลดออกจากราชการตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๙ข้อ ๑๑.๒ และตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๑๗๖/๒๕๐๘ เรื่อง การหมุนเวียนกำลังพล ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๘ ข้อ ๑.๑๐ ตามเอกสารหมาย ล.๑ หน้า ๑๐๔ และหน้า ๑๒๗ ตามลำดับ คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share