คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม อยู่ภายใต้เงื่อนไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสองคือต้องเป็นกรณีที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่า ใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง จึงให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความยื่นใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสามมิได้หมายความว่า ถ้าเป็นใบมอบอำนาจทุกฉบับจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม แม้โจทก์จะลงชื่อในใบมอบอำนาจในต่างประเทศ แต่ตัวโจทก์ก็ได้มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนและได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจจริง จึงไม่มีเหตุอันควรที่ศาลจะสงสัยว่าไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยก็ไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่า ไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งให้โจทก์ส่งใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 47 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 เป็นกรณีที่ให้อำนาจบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจกัน กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องทำเองหรือไม่ การฟ้องคดีอาญาไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าผู้เสียหายจะต้องทำด้วยตนเองทั้งตามสภาพของการฟ้องคดีอาญาก็มิใช่เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยตนเองเฉพาะตัว โจทก์จึงมีอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 180, 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก 180 วรรคแรกเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ แต่เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษเพียงกรรมเดียว จึงให้ลงโทษบทหนักฐานเบิกความเท็จจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ เพราะใบมอบอำนาจในคดีนี้ทำขึ้นในต่างประเทศแต่ไม่ได้ให้กงสุลสยามหรือเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสาร และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้นั้นเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสามอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ มาตรา 47 วรรคสอง คือ ต้องเป็นกรณีที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้น จะไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงจึงให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความยื่นใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 47 วรรคสาม มิได้หมายความว่า ถ้าเป็นใบมอบอำนาจทุกฉบับจะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 47 วรรคสาม สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะลงชื่อในใบมอบอำนาจในต่างประเทศ แต่ตัวโจทก์ก็ได้มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายกำจร ดวงแก้วดำเนินคดีแทนและได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจจริง จึงไม่มีเหตุอันควรที่ศาลจะสงสัยว่าไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยก็ไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจที่โจทก์ส่งศาลไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งให้โจทก์ส่งใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 47 วรรคสาม
ที่จำเลยฎีกาว่า ในคดีอาญาการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนย่อมขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5ที่ระบุว่าบุคคลที่ดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ มีเฉพาะผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา และผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น เห็นว่าบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 เป็นกรณีที่ให้อำนาจบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรานี้มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจกัน ส่วนกิจการในมาตรา 3 กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดาสุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องทำเองหรือไม่ สำหรับการฟ้องคดีอาญาไม่มีกฎหมายใดบังคับว่า ผู้เสียหายจะต้องทำด้วยตนเอง ทั้งตามสภาพของการฟ้องคดีอาญาก็มิใช่เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยตนเองเฉพาะตัวโจทก์จึงมีอำนาจให้นายกำจรฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share