แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยที่1ฎีกาว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแทนส. มารดาโจทก์โจทก์มิใช่คู่สัญญาที่แท้จริงจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อปัญหาดังกล่าวจำเลยที่1มิได้ให้การไว้แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบฎีกาของจำเลยที่1จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249 คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงที่รับรองให้ฎีกาได้นั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงจะวินิจฉัยได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่2สามีจำเลยที่1ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมด้วยแต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาโดยร่วมกันทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้อื่นไปสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนการที่จำเลยที่1ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้จำเลยที่1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่1ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันโดยฝ่ายโจทก์ผู้ซื้อออกเช็คชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่2ซึ่งเป็นสามีจำเลย1ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเจตนาของคู่สัญญาที่มีผลผูกพันกันได้เช็คดังกล่าวลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่28กรกฎาคม2532แต่จำเลยที่1กลับไปทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปตั้งแต่วันที่27กรกฎาคม2532ดังนี้จำเลยที่1จะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1หาได้ไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินมัดจำ200,000บาทและจ่ายเงินค่าปรับ10เท่าของราคาซื้อขายที่ดินคิดเป็นเงิน10,750,000บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์10,950,000บาทและในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน10,950,000บาทให้แก่โจทก์เมื่อเงินมัดจำ50,000บาทเป็นส่วนหนึ่งของค่ามัดจำ200,000บาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งโจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องว่ามอบให้จำเลยที่1ไปและมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระคืนรวมอยู่ด้วยในคำขอท้ายฟ้องแล้วที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่1คืนมัดจำให้แก่โจทก์ด้วยจึงไม่เป็นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 301เนื้อที่ 42 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา จากจำเลยที่ 1 ในราคา1,075,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำเป็นเงิน 200,000 บาทในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือ 875,000 บาทได้ชำระเป็นเช็คลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับเงินส่วนที่เหลือจำเลยที่ 2 เป็นสามีจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 จำเลยทั้งสองได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายวิวัฒน์ อัครวงศ์วัฒนา จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินมัดจำ 200,000 บาทและจ่ายเงินค่าปรับ 10 เท่าของราคาซื้อขายที่ดินคิดเป็นเงิน10,750,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์10,950,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน10,950,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 10,750,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่นายวิวัฒน์ อัครวงศ์วัฒนา ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน2532 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 เวลาประมาณ 2 นาฬิกาโจทก์กับพวกมาตามจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านของโจทก์แล้วข่มขู่ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง จำเลยที่ 1 เกรงว่าจะมีอันตรายจึงลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว โจทก์กับพวกยังใช้กลอุบายหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องนั้นทำเพื่อเป็นหลักประกันว่าหากนายวิวัฒน์ไม่ซื้อที่ดิน โจทก์ก็จะบังคับจำเลยที่ 1 ได้ทันที และบอกว่าสัญญาดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับต่อกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คของโจทก์ไปคืนให้แก่โจทก์ และบอกล้างสัญญาดังกล่าว แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมพบจำเลยที่ 1 มิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และโจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่คู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพราะจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 มิได้รับเงินค่าซื้อขายที่ดินจากโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นสัญญาปลอมโดยโจทก์แก้ไขจำนวนเงินค่าปรับจาก 1 เท่า เป็น 10 เท่าของราคาซื้อขายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง สัญญาจะซื้อจะขายฉบับพิพาทไม่ได้ทำขึ้นโดยจำเลยที่ 1 ถูกฉ้อฉลหรือข่มขู่ สัญญาพิพาทส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับไม่ปลอมและโจทก์มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืนพร้อมทั้งเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายได้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำ 50,000 บาท และเบี้ยปรับ 120,000 บาทรวมเป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 301 เนื้อที่42 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวาจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,075,000 บาทโจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 200,000 บาท ในวันทำสัญญา โดยชำระเป็นเงินสด 50,000 บาท และฝ่ายโจทก์ได้ออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขานครราชสีมา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 จำนวนเงิน150,000 บาท ส่วนราคาที่ดินพิพาทที่เหลือ 875,000 บาท ฝ่ายโจทก์ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานครราชสีมาลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 จำนวนเงิน 875,000 บาท มอบให้จำเลยทั้งสองไว้ เช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวมีนางสุจินดา เชิดชัยมารดาโจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราบริษัทเชิดชัยมอเตอร์เซลล์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของโจทก์ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายวิวัฒน์ อัครวงศ์วัฒนา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 ส่วนเช็คทั้งสองฉบับที่ฝ่ายโจทก์ออกให้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คแต่อย่างใด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแทนนางสุจินดา เชิดชัยมารดาโจทก์ โจทก์มิใช่คู่สัญญาที่แท้จริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้ให้การไว้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 และคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ก็ตามข้อเท็จจริงที่รับรองให้ฎีกาได้นั้น ก็จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาจึงจะวินิจฉัยได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ยังมิได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทางพิจารณาได้ความว่าเช็คทั้งสองฉบับสั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่คู่สัญญาโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 สามีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมด้วย แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาโดยร่วมกันทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้อื่นไป สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไป ไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าโจทก์มิได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3.3 ระบุว่า”ผู้ขายได้รับเงินสดเป็นค่ามัดจำจำนวน 200,000 บาท ในวันทำสัญญาฉบับนี้จากผู้ซื้อ เงินส่วนที่เหลือจำนวนเงิน 875,000 บาท ผู้ขายได้รับเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ สาขานครราชสีมา หมายเลขเช็ค1178393 ลงวันที่ 28/7/32″ การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันโดยฝ่ายโจทก์ผู้ซื้อออกเช็คชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเจตนาของคู่สัญญาที่มีผลผูกพันกันได้ การที่เช็คดังกล่าวลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1กลับไปทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ขอคืนเงินมัดจำ50,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินมัดจำดังกล่าวคืนการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำจึงเกินคำขอท้ายฟ้องนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินมัดจำ 200,000 บาท และจ่ายเงินค่าปรับ 10 เท่า ของราคาซื้อขายที่ดินคิดเป็นเงิน 10,750,000 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ 10,950,000 บาทและในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 10,950,000บาท ให้แก่โจทก์เห็นได้ว่า เงินมัดจำ 50,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของค่ามัดจำ 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมายจ.1 ข้อ 3.3 ซึ่งโจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องว่ามอบให้จำเลยที่ 1 ไปและมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระคืนรวมอยู่ด้วยในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 คืนมัดจำให้แก่โจทก์ด้วย จึงไม่เป็นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
พิพากษายืน