คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3258/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งศาลอื่นขอให้บังคับคดีแทนได้ตั้งจ่าศาลเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรมที่ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะการที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะการบังคับคดีที่ดำเนินไปโดยจ่าศาล จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

ศาลจังหวัดข่อนแก่น (อำเภอพล) ขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาบังคับคดีแทน ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งจ่าศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยขายทอดตลาด ในการขายทอดตลาดครั้งสุดท้าย เจ้าพนักงานบังคับคดีขอคำสั่งศาลว่าจะอนุญาตให้ขายแก่ผู้ให้ราคาสูงสุดหรือไม่ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนการบังคับคดีและการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าศาลจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาได้รับคำร้องของจำเลยที่คัดค้านการขายทรัพย์ในเรื่องนี้ ก็สั่งนัดพร้อม และมีโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์และจำเลยมาศาล ผู้ซื้อทรัพย์แถลงต่อศาลว่า หากจำเลยหาบุคคลอื่นมาซื้อทรัพย์ได้ในราคาเกินกว่า 100,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ก็ยินยอมสละสิทธิ และจำเลยแถลงขอเวลาหาคนมาซื้อภายใน 4 เดือน ส่วนโจทก์ไม่คัดค้าน จึงไม่ติดใจที่จะให้ศาลไต่สวนคำร้องโดยยอมตกลงที่จะเอาผู้อื่นมาซื้อทรัพย์ในราคาที่เกินกว่า 100,000 บาทเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยในเรื่องนี้อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติโดยมีเงื่อนไขว่า หากพ้นกำหนดจำเลยหาคนซื้อทรัพย์ไม่ได้ ก็ให้ขายทรัพย์แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไป ก็ไม่ใช่เป็นการขายทอดตลาดใหม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลไม่มีอำนาจตั้งจ่าศาลเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะระเบียบกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ และคำว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(14) ให้บทวิเคราะห์ทรัพย์ไว้ว่า”เจ้าพนักงานบังคับคดีหมายความว่าเจ้าพนักงานศาลหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ฯลฯ” ฉะนั้น การที่ศาลตั้งจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศาลเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนระเบียบกระทรวงยุติธรรมที่จำเลยอ้างนั้น ในข้อ 8.1 มีข้อความว่า “เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ถ้าศาลนั้นมีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาล และเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานดังกล่าวได้รับหมายบังคับคดีของศาลแล้ว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีนั้น”ซึ่งจะเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลจำต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าวได้รับหมายจากศาล ก็ให้ดำเนินการไปตามหมายบังคับคดีเท่านั้น ฉะนั้น การบังคับคดีที่ดำเนินไปโดยจ่าศาลจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นโมฆะ”

พิพากษายืน

Share