แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 เมื่อนับเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/5 วันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันละเมิดคือวันที่ 24 พฤศจิกายน2539 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ ศาลหยุดทำการ ซึ่งตามมาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการจึงเป็นการฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 189,787 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 143,587 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน108,030 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า เหตุละเมิดเกิดวันที่ 24 พฤศจิกายน2538 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป ครบกำหนด 1 ปี วันที่ 24พฤศจิกายน 2539 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีนี้เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 เมื่อนับเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองประกอบมาตรา 193/5 วันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันละเมิดคือวันที่ 24พฤศจิกายน 2539 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ ศาลหยุดทำการซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้วันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการ จึงเป็นการฟ้องภายในระยะเวลา1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน