คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 2 มีที่พักอยู่ในบริเวณบริษัทซึ่งใช้เป็นโรงรถด้วย เมื่อเลิกงานจำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานขับรถคนอื่น ๆ จะนำรถเข้าจอดในโรงรถ เอากุญแจรถแขวนไว้ข้างฝาผนังโรงรถ พนักงานขับรถสามารถหยิบกุญแจไปได้ ตอนเช้าพนักงานขับรถแต่ละคนก็ขับรถคันที่ตนขับประจำออกไปปฏิบัติงาน เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 มอบรถให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บหลังเลิกงานเพื่อนำรถออกปฏิบัติงานในวันต่อไป แม้จะให้เอากุญแจรถแขวนไว้ข้างฝาก็มิได้เก็บมิดชิดรัดกุม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้พนักงานขับนำรถออกไปใช้เมื่อหมดเวลาทำงานหรือในวันหยุดได้ด้วย ดังนั้นแม้วันเกิดเหตุจะเป็นวันหยุดงานและเกิดเหตุนอกเวลาทำงานและจำเลยที่ 1 เอารถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติ ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถออกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้าง ของจำเลยที่ ๒ ไปตามถนนพระรามที่ ๕ ด้วยความประมาท เมื่อขับมาถึงบริเวณปากซอยสรรพวุธนิเวศน์ จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องทางเดินรถด้านขวา เป็นเหตุให้ชน กับรถแท๊กซี่ซึ่งมีโจทก์และนางสาวสุนันทา สีชมภู เป็น ผู้โดยสารแล่นสวนทางมา ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส ส่วนคนขับรถแท๊กซี่กับนางสาวสุนันทา สีชมภู ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวม เป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๘๑๖,๐๐๗ บาท จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างของ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๘๑๖,๐๐๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถในทางการที่จ้าง ของจำเลยที่ ๒ เนื่องจากในวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดงานเพราะ เป็นวันสงกรานต์ จำเลยที่ ๑ แอบลักลอบนำรถของจำเลยที่ ๒ ไปใช้โดยพลการ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่รู้เห็นยินยอมและเหตุที่เกิดชนกันครั้งนี้ มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถแท๊กซี่ โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การรับว่าได้รับประกันภัยไว้จริง แต่รับประกันภัยจากบุคคลอื่นมิใช่จำเลยที่ ๒ ทั้งความรับผิดตามสัญญามีไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ๓๗,๐๐๐ บาท หากจะต้องรับผิดอีกก็ไม่เกิน ๖๓,๐๐๐ บาทอย่างไรก็ตามเหตุที่ชนกันครั้งนี้มิใช่ความประมาทของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถแท๊กซี่ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเลี้ยงชีพที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินสมควรส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกัน ใช้ค่าสินไหมทดแทน ๕๕๔,๘๐๗ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในวงเงิน ๖๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถคันเกิดเหตุนี้ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ อันจะทำให้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด สำหรับใน ปัญหาข้อแรกนั้น จริงอยู่โจทก์คงมีเพียงนายสมยศ ชีพสัตยาภร ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แต่เพียงผู้เดียว เบิกความว่า จำเลย ที่ ๑ ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ กับมีร้อยตำรวจเอกประจักษ์ นาคศรีสุข พนักงานสอบสวนที่สอบสวนคดีอาญาในกรณีเดียวกันนี้ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ทำให้ คนขับรถแท๊กซี่ กับนางสาวสุนันทาถึงแก่ความตายจากการประมาท ของจำเลยที่ ๑ ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามได้ความจากพยานจำเลย ที่ ๒ คือนางมัธนา สันติบูรณ์ ผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ เบิกความ ว่า บริษัทจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มีรถบรรทุกอยู่ ๕ คัน เพื่อใช้บรรทุกปูนซิเมนต์ มีพนักงานขับรถ ๕ คน ประจำรถคนละคัน จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถคนหนึ่ง และได้ความจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๑ พักอยู่ในบ้านพักคนงานอยู่ในบริเวณบริษัทซึ่งใช้เป็นที่จอดรถบรรทุกทั้งห้าคันของจำเลยที่ ๒ ด้วย นายโกโฮ้ย แซ่อึ้งหรือฮ้อ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ควบคุมดูแลคนงาน พักอยู่ในบ้านพักในบริเวณบริษัท เบิกความ ว่า คนขับรถจะนำรถออกเวลาประมาณ ๗ นาฬิกา และนางมัธนา เบิกความอีกตอนหนึ่งว่า เมื่อจอดรถจะต้องนำกุญแจรถไปแขวนไว้ที่ฝาผนังโรงจอดรถถ้าพนักงานคนใดจะขับรถก็สามารถหยิบกุญแจไปได้ ไม่มีผู้ควบคุมกุญแจรถ วันเกิดเหตุเป็นวันหยุด วันสงกรานต์ บริษัทจำเลยที่ ๒ หยุดงาน รถจอดอยู่ในโรงเก็บรถ และได้ความจากจำเลยที่ ๑ อีกว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ หยิบ เอากุญแจรถและขับรถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติที่มาหาจำเลย ที่ ๑ โดยไม่ได้ขออนุญาตนายโกโฮ้ย เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลย ที่ ๑ ซึ่งเป็นคนขับลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มีที่พักอยู่ในบริเวณบริษัท ซึ่งใช้เป็นโรงรถด้วยพอเลิกงานจำเลยที่ ๑ รวมทั้งคนขับรถคนอื่น ๆ นำรถเข้าจอดในโรงรถ เอากุญแจรถแขวนไว้ข้างฝาผนังโรงรถ พนักงานขับรถสามารถหยิบเอากุญแจไปได้ ตอนเช้าคนขับรถแต่ละคนก็ขับรถคันที่ตนขับประจำออกไปปฏิบัติงาน เท่ากับว่าจำเลยที่ ๒ มอบรถให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เก็บหลังเลิกงานเพื่อจะนำรถออกไปปฏิบัติงานในวันต่อไป กุญแจรถแม้จะให้เอาแขวนไว้ข้างฝา ก็มิได้เก็บมิดชิดรัดกุม ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้คนขับนำรถออกไปใช้ เมื่อหมดเวลาทำงานหรือในวันหยุดได้ด้วย ดังนั้น แม้วันเกิดเหตุ จะเป็นวันหยุดงานและเกิดเหตุนอกเวลาทำงาน และจำเลยที่ ๑ เอารถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติที่มาหาจำเลยที่ ๑ ตามที่จำเลยที่ ๒ นำสืบ ก็ถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถออกไป ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ อันจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้อง ร่วมรับผิดในความประมาทของจำเลยที่ ๑
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เพียงใดนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์รับฟัง ได้ว่าโจทก์ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปตามจำนวนที่โจทก์นำสืบจ ริง และอาการของโจทก์นั้น จำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งอย่างใด จึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ต้องพิการตลอดชีวิต สำหรับค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิงนั้น ที่ศาลชั้นต้นคิดให้โจทก์เป็นเงินก้อน จำนวน ๕๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนของโจทก์เป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปีเท่านั้น นับว่าเป็นจำนวนน้อยอยู่แล้ว แต่ โจทก์มิได้อุทธรณ์จึงให้โจทก์ได้รับตามจำนวนดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share