คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3221/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกขู่เข็ญผู้เสียหายเรียกเอาเงิน 6,000 บาทโดยอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนไปทางกรมตำรวจว่าผู้เสียหายเป็นพระจรจัด จะเอาเงินไปปิดปากผู้ร้องเรียน ผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ 2ว่ามีเท่าใดให้เอามาก่อน พร้อมกับทำมือแสดงอาการฮึดฮัดไม่พอใจลักษณะจะทำร้าย ผู้เสียหายกลัว จึงชี้บอกเงิน 2,000 บาทใส่ซองวางไว้บนโต๊ะให้เอาไปก่อน เช่นนี้ กรณีเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานกรรโชก ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสามซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการนำเอากฎหมายที่ออกใช้ภายหลังมาลงโทษจำเลยซึ่งฟ้องไว้ก่อนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และมีอาวุธปืนเป็นอาวุธได้ร่วมปล้นทรัพย์ของพระภิกษุอรุณ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 340, 340 ตรี 371, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 และนับโทษต่อกับคดีดำที่ 10017/2517

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นคน ๆ เดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์กล่าวอ้าง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ปรับคนละ 100 บาทให้นับโทษต่อ ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุกข้อหา

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุกคนละ 18 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกขู่เข็ญผู้เสียหายเรียกเอาเงิน 6,000 บาท โดยอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนไปทางกรมตำรวจว่าผู้เสียหายเป็นพระจรจัด ประพฤติตัวไม่ดี จะเอาเงิน 6,000 บาทไปปิดปากผู้ฟ้องร้องให้เลิกเรื่อง เมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงินก็จะเอาเรื่อง และผู้เสียหายบอกว่า เงินยังไม่มีภายใน 7 วันให้มาเอา จำเลยที่ 2 ก็ว่ามีเท่าใดให้เอามาส่วนหนึ่งก่อนพร้อมกับทำมือแสดงอาการฮึดฮัดไม่พอใจลักษณะจะทำร้ายผู้เสียหายกลัวจึงชี้บอกว่ามีเงิน 2,000 บาทซึ่งมีผู้บริจาคสร้างโบสถ์ใส่ซองวางไว้บนโต๊ะให้เอาไปก่อน จำเลยที่ 2 ได้หยิบซองใส่เงินนั้นไป ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่จำเลยโดยขู่เข็ญว่าถ้าไม่มีเงินจะเอาเรื่องและแสดงท่าทางลักษณะจะทำร้ายจนผู้เสียหายกลัวต้องยอมให้เงินไป โดยชี้บอกซองใส่เงินวางอยู่บนโต๊ะให้จำเลยที่ 2 หยิบเอาไป กรณีเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานกรรโชกซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง จึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และจะลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการนำเอากฎหมายที่ออกใช้ภายหลังมาลงโทษจำเลยซึ่งได้ฟ้องไว้ก่อนแล้วเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 410/2498 ระหว่างอัยการศาลมฐฑลทหารบกที่ 7โจทก์ พลทหารทุน ไชยะกาล จำเลย

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share