แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิดตามที่มีผู้ว่าจ้างให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนในที่เกิดเหตุซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้ง โดยลงจากรถไปยืนที่บริเวณดังกล่าวตามที่นัดหมายไว้ อันเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ แต่จำเลยที่ 1 กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจมาพบและถูกจับกุมได้เสียก่อน จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 91 และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 703/2556 ของศาลจังหวัดอุดรธานี เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสาม, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 เดือน 10 วัน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 703/2556 ของศาลจังหวัดอุดรธานีเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 รวมโทษจำเลยที่ 1 เป็นจำคุก 33 ปี 15 เดือน 10 วัน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับ 444,444.44 บาท เมื่อบวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 703/2556 ของศาลจังหวัดอุดรธานี และรวมกับโทษในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 22 ปี 14 เดือน และปรับ 444,444.44 บาท และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยโจทก์อ้างว่าพันตำรวจตรี ศักดิ์ดา จ่าสิบตำรวจปราโมช ผู้ร่วมจับกุมซึ่งไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันตรงกันว่า เห็นจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ข้างเสาป้ายสัญญาณจราจร เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงทิ้งถุงพลาสติกที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางในมือลงพื้นแล้ววิ่งหนีไปขึ้นรถของจำเลยที่ 1 ขณะเห็นอยู่ห่างกันประมาณ 5 เมตร โดยอาศัยแสงไฟจากหน้ารถของพยานและของจำเลยที่ 1 เหตุที่ถุงพลาสติกที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนไม่ตกกระจัดกระจายออกไป เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ขว้างปาหรือเหวี่ยงทิ้งโดยแรง ทั้งสายลับมิได้แจ้งว่าเมทแอมเฟตามีนถูกซุกซ่อนไว้ที่บริเวณเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้งและตามคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็มิได้ให้การว่า ผู้ค้าจะนำเมทแอมเฟตามีนมาซุกซ่อนไว้ที่บริเวณเสาป้ายสัญญาณจราจรดังกล่าว ทำให้เชื่อได้ว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นความจริงโดยไม่มีข้อสงสัยนั้น เห็นว่า แม้พันตำรวจตรี ศักดิ์ดาและจ่าสิบตำรวจปราโมชพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า เห็นจำเลยที่ 1 ทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีน ดังโจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ตามภาพถ่ายที่เกิดเหตุ ป้ายสัญญาณจราจรทางโค้ง อยู่คนละฝั่งถนนกับรถของจำเลยที่ 1 และรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจที่ขับมาจอดประกบท้าย ทั้งทิศทางยังอยู่เยื้องไปทางด้านหลังรถของจำเลยที่ 1 จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่า แสงไฟจากหน้ารถดังกล่าว ส่องไปถึงบริเวณป้ายสัญญาณจราจรทางโค้งหรือไม่ ประกอบกับการเข้าไปหยิบเมทแอมเฟตามีนจากที่ซ่อนย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง ใช้จังหวะและโอกาสมิให้ผู้อื่นมาพบเห็นได้ง่าย ๆ หากจำเลยที่ 1 หยิบถุงเมทแอมเฟตามีนจากที่ซ่อนและถือถุงเมทแอมเฟตามีนไว้ในมือแล้วจริง เมื่อมีแสงไฟจากรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจแล่นมาจอดที่ท้ายรถของจำเลยที่ 1 โดยสัญชาตญาณ จำเลยที่ 1 ต้องทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีนในทันทีซึ่งก็ใช้เวลาน้อยนิดเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ไม่จำต้องรอให้เจ้าพนักงานตำรวจลงจากรถแสดงตนเสียก่อน แต่ในข้อนี้ ทั้งพันตำรวจตรีศักดิ์ดาและจ่าสิบตำรวจปราโมชต่างก็เบิกความว่า เมื่อลงจากรถและแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยที่ 1 จึงทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อที่ว่าหากไม่เห็นจำเลยที่ 1 ทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมไม่มีทางทราบจุดซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนได้เลย และลักษณะถุงพลาสติกที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนมีร่องรอยการเปิดปากถุงออกแล้ว ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้หยิบถุงเมทแอมเฟตามีนมาถือไว้จริงนั้น ข้อนี้ทั้งพันตำรวจตรีศักดิ์ดาและจ่าสิบตำรวจปราโมชต่างก็เบิกความรับว่า ในระหว่างตรวจค้นในรถของจำเลยที่ 1 อยู่นั้น มีเสียงโทรศัพท์เรียกเข้ามาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 จ่าสิบตำรวจปราโมชเป็นผู้รับโดยเปิดเสียงลำโพงมีเสียงผู้ชายสอบถามว่าได้ลงไปเอาของที่โคนเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้งหรือยัง ส่วนเหตุที่ถุงเมทแอมเฟตามีนมีการเปิดปากถุงออกนั้น เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ที่ถุงดังกล่าว กรณีอาจเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้เปิดออกดูก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ตามบันทึกลายมือเขียนรับสารภาพของจำเลย และตามคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดเพียงว่า นายสมานจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ผู้ขายนำไปวางไว้ที่ป้ายสัญญาณจราจรทางโค้งที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ติดตามมาพบเห็นจึงทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางแต่อย่างใด ทั้งในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีภาพถ่ายจำเลยที่ 1 กำลังทิ้งถุงแต่อย่างใด ประการสุดท้ายโจทก์ไม่ได้นำสืบและอ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสองว่า ในชั้นสอบสวนได้สอบคำให้การพันตำรวจตรีศักดิ์ดาและจ่าสิบตำรวจปราโมชไว้หรือไม่ และพยานโจทก์ทั้งสองให้การไว้ตรงกับที่เบิกความจริงหรือไม่เพียงใด เพื่อให้ศาลใช้ตรวจสอบชั่งน้ำหนักคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองว่า มีน้ำหนักเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด คงมีแต่พันตำรวจตรีธีรวุธ พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามาเบิกความลอย ๆ ว่า จากการสอบสวนทราบว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมพบจำเลยลงไปยังบริเวณป้ายสัญญาณจราจรทางโค้งและถือห่อวัตถุในมือ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวขอตรวจค้น จำเลยที่ 1 ทิ้งห่อวัตถุวิ่งกลับไปที่รถ จึงทำให้ไม่อาจรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองได้อย่างสนิทใจ ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองแม้ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำนั้น ก็มิใช่ว่าจะทำให้ศาลต้องเชื่อถือรับฟังว่าเป็นความจริงดังที่พยานเบิกความเสมอไป เพราะพยานอาจเบิกความแต่งเติมข้อเท็จจริงเพื่อให้รูปคดีที่มีข้อบกพร่องอยู่ให้มีความสมบูรณ์ก็อาจเป็นได้ ดังนั้น ที่พันตำรวจตรีศักดิ์ดาและจ่าสิบตำรวจปราโมชเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ทิ้งถุงเมทแอมเฟตามีนโดยอาศัยแสงไฟจากหน้ารถของจำเลยที่ 1 และจากรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจจึงเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ กรณีจึงยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นจึงได้โยนทิ้งจริงหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิดตามที่มีผู้ว่าจ้างให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนในที่เกิดเหตุซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้ง โดยลงจากรถไปยืนที่บริเวณดังกล่าวตามที่นัดหมายไว้ อันเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจมาพบเห็นและถูกจับกุมได้เสียก่อนจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน