คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุว่าการมีโพยสลากกินรวบไว้ในครอบครองภายในอาณาเขตโรงงานของจำเลย ถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง แต่การกระทำใด ๆ ที่ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามลักษณะแห่งการกระทำเป็นเรื่อง ๆ ไป โจทก์เพียงแต่มีโพยสลากกินรวบไว้ในครอบครองภายในอาณาเขตโรงงานของจำเลย โดยไม่ได้เล่นการพนันสลากกินรวบภายในอาณาเขตโรงงานดังกล่าวด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง โดยมีโพยสลากกินรวบไว้ในครอบครองภายในบริเวณอาณาเขตโรงงานของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์พอสรุปได้เป็นใจความว่า โจทก์มีโพยสลากกินรวบที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและยึดได้จากกระเป๋าเสื้อของโจทก์ไว้ในความครอบครองภายในบริเวณอาณาเขตโรงงานของจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๒ และ ล.๓เป็นกรณีร้ายแรง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยงกับการทำงานของจำเลยจะระบุว่าการมีโพยสลากกินรวบไว้ในครอบครองภายในอาณาเขตของโรงงานถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง แต่การกระทำใด ๆ ที่ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) ซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามลักษณะแห่งการกระทำเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อโจทก์เพียงแต่มีโพยสลากกินรวบไว้ในครอบครองภายในบริเวณอาณาเขตโรงงานของจำเลย โดยข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบภายในบริเวณอาณาเขตโรงงานของจำเลย ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share