คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ดำเนินการวิ่งเต้นให้เจ้าของที่ดินยอมให้บริษัท ว. เข้าทำการปรับปรุงที่ดินอันเป็นแหล่งเสื่อมโทรม จนเป็นผลให้เจ้าของที่ดินทำสัญญาดังกล่าวกับบริษัท ว. และทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าตอบแทนจากบริษัท ว. การกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นนายหน้าตัวแทนจัดการงานให้ เป็นการประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 บัญชีอัตราภาษีการค้า 10 นายหน้าและตัวแทน โจทก์จึงต้องจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้า ทั้งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(2) จากจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับมาจากบริษัท ว.

ประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 มิใช่บทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระภาษี แต่เป็นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนเท่านั้น ส่วนสิทธิเรียกร้องให้ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มมีอายุความ 10 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้เสียภาษีต้องยื่นรายการและชำระค่าภาษีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 ภาษีเงินได้สำหรับปีพ.ศ. 2509 โจทก์จะต้องยื่นรายการภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2510 เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 10 ปี จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2509 – 2512 และภาษีการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2512 โดยถือว่าโจทก์มีเงินได้และประกอบการค้าในลักษณะนายหน้าอันเป็นการไม่ชอบเพราะเงินที่โจทก์รับมาทั้งหมดเป็นเพียงรับผ่านมือเพื่อจ่ายให้บุคคลอื่นต่อไป เท่านั้น และจ่ายไปเกิน 10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องภาษีอากรจึงขาดอายุความ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกร้องภาษีไม่ขาดอายุความ การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การประเมินของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับภาษีเงินได้และเงินเพิ่มของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2509 ขาดอายุความ ให้ยกคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2, 3, 4 ที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มดังกล่าว คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับภาษีเงินได้และเงินเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2509 เสียด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามเอกสาร จ.1 ซึ่งเป็นหนังสือของหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ไปถึงโจทก์ว่า “ตามที่ข้าพเจ้าได้ใช้ บริษัทอู่เรือบางลำภูล่าง จำกัด เสนอขอเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามหนังสือของบริษัทที่อ้างข้างบนนี้ก็โดยที่ท่านและคณะเป็นผู้วิ่งเต้นติดต่อกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเรื่องนี้มาให้ข้าพเจ้า ฉะนั้น เมื่อบริษัทนี้หรือบริษัทที่กำลังจัดตั้งขึ้นใหม่ได้ตกลงทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อใด ข้าพเจ้าจะจ่ายค่าบริการให้คณะของท่านเป็นเงินห้าล้านบาท เมื่อทางการอนุมัติและเรียกบริษัททำสัญญาเมื่อใดแล้ว ข้าพเจ้ายินดีจะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้ตามที่ตกลงไว้ ส่วนรายละเอียดวิธีจ่ายจะได้ตกลงกันเมื่อบริษัทได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว” และได้ความว่าบริษัทวังใหม่ จำกัด ได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2504 หลังจากนั้นโจทก์ได้รับเงินจากบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นคราว ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ถึงปี พ.ศ. 2512 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,494,885.50 บาท จึงเห็นได้ชัดว่าจำนวนเงินที่บริษัทวังใหม่ จำกัดจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายเนื่องในการวิ่งเต้นติดต่อให้บริษัทได้เข้าทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หาใช่เป็นเงินค่าบริการเพื่อให้โจทก์จ่ายให้แก่ผู้อื่นแต่อย่างใดไม่ ที่โจทก์นำสืบและฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์ได้จ่ายเงินให้กับจอมพลสฤษดิ์ และหลวงวิจิตรวาทการไปเนื่องในการนี้เป็นเงินรวม 3,200,000 บาท โดยได้ยืมเงินผู้อื่นทดรองจ่ายไปก่อน 1,200,000 บาท และรับเงินจากหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์มาจ่ายอีก 2,000,000 บาท โดยอ้างถึงกรณีที่ผู้เข้าทำสัญญากับทางราชการรายอื่น ๆ ต้องเสียเงินค่าตอบแทนให้กับผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำสัญญานั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังว่า เงินที่โจทก์รับไปจากบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นเงินที่จ่ายคืนให้กับโจทก์แทนเงินที่บริษัทโจทก์ต้องจ่ายให้กับบุคคลทั้งสองนั้นได้ เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ประโยชน์ตอบแทนจากการวิ่งเต้นติดต่อกับบุคคลทั้งสองนั้นโดยตรงแต่ประการใด ทั้งไม่มีทางที่จะฟังว่าเงินที่หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์สัญญาจะจ่ายให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเงินที่ผู้จ่ายมอบให้โจทก์ใช้เงินทดรอง เพราะผู้ที่ออกเงินทดรองจ่ายให้โจทก์ส่วนใหญ่เป็นเงิน 2,000,000 บาท คือหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์เป็นผู้ให้สัญญาอยู่แล้ว คดีจึงมีเหตุผลส่งให้เห็นว่า หากจะมีการจ่ายเงินค่าวิ่งเต้นกันจริงดังที่โจทก์พยายามโต้เถียงมาในฎีกา ก็น่าจะเป็นเงินอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับจำนวนที่สัญญาจะจ่ายให้โจทก์ตามเอกสาร จ.1 ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องวิ่งเต้นให้บริษัทวังใหม่ จำกัด ได้เข้าทำสัญญาทำการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมดังกล่าวแล้วจะทำให้โจทก์มีรายได้จากการเป็นตัวแทนขายเครื่องปรับอากาศก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่มีประมาณการว่า โจทก์จะมีรายได้จากการขายเครื่องปรับอากาศทั้งหมดเท่าใด และจะคุ้มกับการที่โจทก์ลงทุนทดรองยืมเงินมาจ่ายเป็นจำนวนมากนั้นหรือไม่ จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งว่า คำว่า ค่าบริการในเอกสารหมาย จ.1 มิได้หมายความถึงค่านายหน้า ถ้าหมายถึงค่านายหน้าก็ควรจะเขียนไว้ตรง ๆ นั้น ก็เห็นว่าคำว่า ค่าบริการ มีความหมายเป็นที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความตอนบนของเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ย่อมหมายถึงเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์และคณะวิ่งเต้นติดต่อให้บริษัทวังใหม่ จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง เข้าลักษณะเป็นนายหน้าตัวแทนจัดการงานให้เป็นการประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 บัญชีอัตราภาษีการค้า 10 นายหน้าและตัวแทนซึ่งจะต้องจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้า ทั้งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) จากจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัทวังใหม่ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเงินจำนวน 3,494,885.50 บาท ที่โจทก์รับมาจากบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นเงินค่านายหน้าและเป็นเงินได้ของโจทก์ ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีการค้า ฯลฯ จึงชอบแล้ว

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2509 ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ ปี พ.ศ. 2509 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2510 แต่โจทก์มิได้นำเงินค่านายหน้าที่ได้รับในปี พ.ศ. 2509 จากบริษัทวังใหม่ จำกัด มารวมยื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 หมายเรียกโจทก์มาไต่สวนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2515 แล้ว ทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2509 เพิ่มเติมจากรายการที่ยื่นไว้ และแจ้งให้โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2515 โจทก์ฎีกาว่า ภาษีเงินได้และเงินเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2509 ขาดอายุความแล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และ 20 พิเคราะห์แล้วประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และ 20 หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระภาษีไม่ หากแต่เป็นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่า รายการที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้ว จะมีผลก็เพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนเท่านั้น สิทธิเรียกร้องให้ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มที่มีอายุความ 10 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้เสียภาษีต้องยื่นรายการและชำระค่าภาษีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 ซึ่งกรณีของโจทก์จะต้องยื่นรายการประเมินภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์2510 นับถึงวันฟ้องยังไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share