คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2605/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ โดยจำเลยต้องซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ และชำระเงินตามราคาให้ภายในกำหนด 60 วันนับจากวันรับสินค้าไป จำเลยจะนำสินค้าไปขายได้หรือไม่ กำไรหรือขาดทุนเป็นเรื่องของจำเลย โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จำเลยจึงหาใช่ตัวแทนค้าต่างของโจทก์ไม่
คำว่า “อุตสาหกรรม” หมายถึงกิจการในทางผลิตสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้าขึ้น การที่จำเลยรับปูนซีเมนต์จากโจทก์ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมไปจำหน่ายหาผลกำไรเป็นปกติธุระมิได้นำไปผลิตสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้าอันเป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรม กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นให้ใช้อายุความห้าปีตามความในมาตรา 165 วรรคสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ผลิตปูนซีเมนต์ อุปกรณ์การก่อสร้าง จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น กระเบื้องเคลือบ ฯลฯ ของโจทก์ในเขตจังหวัดราชบุรี มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องส่งเงินค่าสินค้าให้โจทก์เมื่อครบ60 วัน นับจากวันที่รับสินค้าไปจำหน่ายโดยมีธนาคารจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกัน การชำระเงินค่าสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 สั่งปูนซีเมนต์และกระเบื้องชนิดต่าง ๆ เอาไปจำหน่ายแก่ลูกค้าหลายคราว โจทก์จ่ายสินค้าให้ตามที่สั่งและแจ้งรายการและราคาสินค้าให้จำเลยที่ 1 ทราบในใบส่งสินค้าและใบแจ้งหนี้ทุกครั้ง จำเลยที่ 1 จะต้องส่งเงินค่าสินค้าให้โจทก์ตามหลักฐานการส่งของเมื่อครบกำหนด 60 วันตามข้อตกลง ส่วนจำเลยที่ 1 จำหน่ายได้เกินราคาที่โจทก์กำหนดไว้ก็ตกได้แก่จำเลยบางครั้งโจทก์ก็ได้คิดเปอร์เซ็นต์เป็นรางวัลให้แก่จำเลยอีกส่วนหนึ่งด้วย ตั้งแต่ทำสัญญาตัวแทนจำหน่าย จำเลยสั่งสินค้าไปจำหน่ายตลอดมา และส่งเงินค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนเสมอมา กระทั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2514 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2515 จำเลยที่ 1 สั่งสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายหลายครั้ง คิดเป็นเงิน 97,060 บาท เมื่อครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยและจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 50,000 บาทแทนจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต่อสู้หลายประการ และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การจำหน่ายสินค้าที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 กระทำในนามตนเอง มิได้กระทำแทนโจทก์เป็นกรณีที่พ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ มิใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้มีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าไปจากโจทก์คือ วันที่ 31 สิงหาคม 2515 ถึงวันที่ 6พฤษภาคม 2518 วันที่โจทก์ ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่าสองปีแล้ว หากจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริงคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องซื้อขายสินค้ากันโดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ขายสินค้าของโจทก์ได้เพียงรายเดียวในเขตอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเท่านั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความเพียง 2 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และจำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนค้าต่างของโจทก์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเขตท้องที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำเลยจะต้องซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ และชำระราคาให้ภายใน 60 วัน จำเลยที่ 1 จะนำสินค้าไปขายได้หรือไม่ กำไรหรือขาดทุนเป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้จำเลยหาใช่ตัวแทนค้าต่างของโจทก์ดังฎีกาโจทก์ไม่

ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์แห่งข้อยกเว้นแห่งบทบัญญัติมาตรา 165 อนุมาตรา 1 ตอนท้ายที่ว่า”เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” แสดงว่ากฎหมายมีเจตนาให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิเรียกร้องลูกหนี้ได้เกิน 2 ปีนั้น

คำว่า “อุตสาหกรรม” หมายถึงกิจการในทางผลิตสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้าขึ้น หาได้หมายถึงการค้าโดยเฉพาะดังเช่นที่จำเลยฝ่ายลูกหนี้ในคดีนี้ประกอบการเป็นปกติธุระอยู่ไม่ กล่าวคือ จำเลยฝ่ายลูกหนี้รับปูนซีเมนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายเป็นสินค้าหาผลกำไรเป็นปกติธุระ มิได้นำไปผลิตสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้าอันเป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมแต่อย่างใด กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นให้ใช้อายุความห้าปีตามความในมาตรา 165 วรรคสุดท้ายดังฎีกาของโจทก์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความสองปี

ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share