แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ใดจะยึดทรัพย์สินของบุคคลอื่นในประเทศไทยได้โดยชอบนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจของกฎหมายไทยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไทย
หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนกันระหว่างประเทศ ถ้าจะให้มีผลบังคับได้จะต้องมีกฎหมายไทยรับรองไว้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 เป็นเรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการที่จะดำเนินคดีในศาลไทยเจ้าพนักงานหาอาจอาศัยอำนาจตามมาตรานี้ยึดทรัพย์ของผู้ใดเพื่อส่งไปให้รัฐบาลต่างประเทศสำหรับใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในศาลต่างประเทศไม่
โจทก์เป็นชาวต่างประเทศถูกคนร้ายชิงทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายได้พร้อมด้วยเงินตราต่างประเทศที่ถูกชิงทรัพย์ไปเป็นของกลาง ศาลพิพากษาคดีอาญาให้คืนเงินของกลางแก่โจทก์แล้ว จำเลยคือกรมตำรวจและเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินของกลางให้โจทก์ การที่โจทก์ถูกศาลสั่งให้ส่งตัวข้ามแดนไปตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติเกี่ยวกับการส่งพยานหลักฐานไปให้ศาลต่างประเทศด้วยไม่ ทั้งคำพิพากษาของศาลที่ให้ส่งตัวโจทก์ไปให้รัฐบาลต่างประเทศก็มิได้สั่งให้ส่งพยานหลักฐานใด ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยไม่สามารถอ้างและนำสืบให้เห็นว่ามีอำนาจตามกฎหมายใดที่จะยึดเงินของกลางไว้ เพื่อส่งให้รัฐบาลต่างประเทศตามที่รัฐบาลต่างประเทศขอมา ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยคืนเงินของกลางแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4019/2517ของศาลอาญาชิงทรัพย์ไป เจ้าพนักงานจับจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวได้พร้อมด้วยธนบัตรรัฐบาลสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ฉบับละ 1,000 ฟรังซ์ จำนวน116 ฉบับ คิดเป็นเงินไทย 798,080 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์ถูกชิงทรัพย์ไป จำเลยคดีอาญาไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ พนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการได้สั่งคืนเงินของกลางดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันคืนธนบัตรของกลางดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนให้ได้ก็ให้จำเลยร่วมกันใช้คืนเป็นเงินไทย 798,080บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้จับกุมโจทก์และยึดธนบัตรฟรังซ์สวิตส์ที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ในคดีชิงทรัพย์เพื่อดำเนินการส่งตัวโจทก์ข้ามแดนไปให้รัฐบาลสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ตามคำขอของรัฐบาลนั้น โดยอาศัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 จำเลยเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงหมาดไทยตามคำร้องขอแห่งหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนกันของรัฐบาลสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานมีอำนาจค้นตัวและยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะยึดธนบัตรที่โจทก์ขอคืนนี้เพื่อส่งไปให้รัฐบาลสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป จำเลยปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตไม่เป็นการละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนธนบัตรปรังสวิสส์ของกลางจำนวน116 ฉบับให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ใช้ชดใช้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนและสถานที่ในขณะชดใช้ ตามมาตรา 196 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จำเลยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยวยึดทรัพย์สินของโจทก์ไว้โดยปราศจากอำนาจเสียเลย จึงไม่ควรได้ดอกเบี้ยจากเงินจำนวนนี้อีก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ เจ้าพนักงานจับคนร้ายได้และค้นได้ธนบัตรสวิสส์ฉบับละ 1,000 ฟรังซ์ จำนวน 116 ฉบับจากคนร้าย ในคดีอาญาเรื่องชิงทรัพย์ ศาลพิพากษาให้คืนเงินของกลางคืนธนบัตรพิพาทในคดีนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนั้น ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญารัฐบาลสวิสส์ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยขอให้จับและคุมตัวโจทก์ส่งข้ามแดน โดยอ้างว่าโจทก์ต้องหาคดีอาญาฐานฉ้อโกง ปลอมเอกสารและยักยอกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งได้ขอให้ยึดข้าวของทรัพย์สินของโจทก์ไว้ด้วย ต่อมาพนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อส่งตัวโจทก์ข้ามแดนตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 คดีถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ส่งตัว โจทก์ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามคำร้องขอ และรัฐบาลได้ส่งตัวโจทก์ไปแล้วส่วนธนบัตรที่พิพาทกรมตำรวจจำเลยที่ 1 ยังยึดไว้เพื่อส่งไปให้แก่รัฐบาลสวิสส์ไม่ยอมคืนให้โจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีอาญาเรื่องชิงทรัพย์ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คืนเงินของกลางให้แก่โจทก์ ฉะนั้นในเบื้องต้นจำเลยจึงมีหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาดังกล่าวที่จะต้องคืนเงินที่พิพาทให้แก่โจทก์เหตุผลที่จำเลยยังยึดเงินที่พิพาทไว้ไม่ยอมคืนให้โจทก์ ตามคำให้การจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ได้บัญญัติไว้เฉพาะแต่ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะส่งตัวบุคคลที่ต้องหาหรือที่พิจารณาเป็นสัตย์ว่าได้กระทำผิดมีโทษอาญาภายในเขตอำนาจศาลของต่างประเทศ ให้แก่ประเทศนั้น ๆ เท่านั้น มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการส่งพยานหลักฐานที่จะต้องใช้ไปให้แก่ศาลต่างประเทศด้วย ทั้งคำพิพากษาของศาลไทยในคดีที่ให้ส่งตัวโจทก์ให้แก่รัฐบาลประเทศสวิสส์ก็ไม่ปรากฏว่าได้สั่งให้ส่งพยานหลักฐานใด ๆ ไปด้วยเลย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนพ.ศ. 2472 ซึ่งจำเลยอ้างถึงได้บัญญัติไว้แต่ในเรื่องหลักเกณฑ์ของการที่จะส่งตัวบุคคลเท่านั้น ส่วน มาตรา 85 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จำเลยอ้างถึงอีกข้อหนึ่งนั้น ก็เป็นเรื่องอำนาจของจำเลยเกี่ยวกับการที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ใดในศาลไทย ถึงแม้หากจะถือว่าจำเลยได้ยึดเงินที่พิพาทไว้เป็นหลักฐานในคดีของศาลอาญา ที่ขอให้ส่งตัวโจทก์ข้ามแดนไปก็ตาม จำเลยก็คงมีอำนาจที่จะยึดเงินนั้นไว้จนกว่าคดีที่ขอให้ส่งโจทก์ข้ามแดนไปถึงที่สุดเท่านั้น เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้ต้องหา หรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น การยึดเงินที่พิพาทในคดีนี้จำเลยก็ให้รับอยู่ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจยึดไว้เอง เพื่อส่งไปให้รัฐบาลสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับโจทก์ ในศาลต่างประเทศ ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ใดจะยึดทรัพย์สินของบุคคลอื่นในประเทศไทยได้โดยชอบนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจของกฎหมายไทยหรือโดยอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไทยเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่สามารถอ้างและนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า จำเลยมีอำนาจตามบทกฎหมายใด หรือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลใดทที่จะยึดเงินที่พิพาทในคดีไว้ได้ จำเลยก็ต้องคืนเงินที่พิพาทให้แก่โจทก์ หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนกันระหว่างประเทศตามที่จำเลยอ้างในคำให้การสำหรับในกรณีเช่นนั้น ถ้าจะให้มีผลบังคับได้ก็จะต้องมีกฎหมายของไทยรับรองไว้ ดังทำนองเช่นที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นแห่งคำพระราชปรารภถึงเหตุผลที่ได้ตราพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ขึ้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น