คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า ส. จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองหรือ อ. เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในขณะทำสัญญาหรือในอนาคตทั้งหมดรวมวงเงิน 80,000 บาท เมื่อปรากฏว่าสัญญาจำนองทำขึ้นวันเดียวกับที่ อ. ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้รับจำนอง และหนังสือต่ออายุสัญญา ครั้งสุดท้ายก็ระบุวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่เกิน 80,000 บาท ทั้งๆ ที่ขณะนั้น อ. เป็นหนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองอยู่ถึง116,671.87 บาท ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องกับ ส. ผู้จำนองมีเจตนาจำนองประกันหนี้รวมดอกเบี้ยทั้งหมดไม่เกิน80,000 บาท
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองขอให้ศาลสั่งขายที่ดินที่จำนองโดยวิธีปลอดจำนองและขอนำเงินที่ขายทอดตลาดมาชำระหนี้จำนองก่อนเช่นนี้เป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วยวิธีการพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา289 ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมบังคับจำนองในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง.

ย่อยาว

คู่ความทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยทั้งสามยอมร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 503,180.37 บาทพร้อมดอกเบี้ยโดยผ่อนชำระเป็น 10 งวดงวดละ 15,000 บาทและชำระส่วนที่เหลือในงวดสุดท้ายศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกพร้อมสิ่งปลูกสร้างของนายสุพิชญ์ พิทยาพิบูลย์พงศ์ผู้ตายซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นทายาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้ตายเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.ยูนิเวอร์เซลเทรดดิ้งเมื่อคิดคำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2528 ห้าง ฯ เป็นหนี้เบิกเกินบัญชีผู้ร้องจำนวน213,650.75 บาทขอให้ศาลสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินรายนี้โดยปลอดจำนองแล้วนำเงินมาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองครบถ้วนก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ 80,000 บาทในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิก่อนโจทก์และให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าธรรมเนียมในชั้นขอรับชำระหนี้ด้วยเฉพาะในส่วนค่าธรรมเนียมของผู้ร้องดังกล่าวให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในฐานะเจ้าหนี้สามัญ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ทางไต่สวนคำร้องของผู้ร้องได้ความว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2513 นายสุพิชญ์ พิทยาพิบูลย์พงศ์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 36547 ที่โจทก์นำยึดเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.ยูนิเวอร์เซลเทรดดิ้งกำหนดวงเงิน 80,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีปรากฏตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย ร.3 มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันหลายครั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522 ปรากฏตามหนังสือต่ออายุสัญญาเอกสารหมายร.5 ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวยอมรับว่าเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีคิดถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 เป็นจำนวน 116,671.87 บาทปรากฏตามคำขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้เอกสารหมาย ร.6 เมื่อคิดหักทอนบัญชีกันถึงวันที่ 30 เมษายน 2528 ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องจำนวน 213,650.75 บาทปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ร.7 ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวมิได้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าว
พิเคราะห์แล้วที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนอง 80,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันจำนองจนกว่าจะชำระเสร็จรวมทั้งค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนองจนครบถ้วนแล้วจึงจัดสรรชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ต่อไปนั้นศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองซึ่งนายสุพิชญ์จำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเอกสารหมาย ร.2 ข้อ 1 ระบุว่าผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินกับบรรดาตึกโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในที่ดินรายนี้หรือซึ่งจะได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ในภายหน้าในที่ดินรายนี้ทั้งสิ้นไว้แก่ผู้รับจำนองเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.ยูนิเวอร์เซลเทรดดิ้งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งในภายหน้าในเรื่องการกู้เงิน การเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ในลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นหนี้แก่ผู้รับจำนองทั้งหมดซึ่งรวมวงเงิน 80,000 บาทปรากฏว่าสัญญาจำนองนี้ทำขึ้นวันเดียวกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าวทำไว้กับผู้ร้องจึงเห็นได้ว่าวงเงิน 80,000 บาทตามที่ระบุในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองนั้นหมายถึงหนี้ทุกชนิดทั้งในขณะทำสัญญาและในอนาคตที่ผู้จำนองหรือห้างหุ้นส่วนดังกล่าวอาจเป็นหนี้ผู้ร้องได้ ดังนั้นดอกเบี้ยจำนองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนองย่อมรวมอยู่ในวงเงิน 80,000 บาทนี้อย่างไม่มีข้อสงสัยเพราะหนี้อื่น ๆ ไม่ว่าลักษณะใดก็ยังรวมอยู่ในวงเงินนี้ เจตนาของผู้ร้องและผู้จำนองเห็นได้ชัดว่าเป็นเช่นนั้นจากหลักฐานหนังสือต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้ายเอกสารหมาย ร.5 อีกด้วยกล่าวคือหนังสือดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้ผู้จำนองลงลายมือชื่อไว้ด้วยนั้นได้ระบุวงเงินเบิกเกินบัญชีไว้ไม่เกิน 80,000 บาทเช่นเดียวกับเมื่อทำสัญญาจำนองและหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2522 ทั้ง ๆที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้เอกสารหมาย ร.6ว่าในวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ถึง 116,671.87 บาทแสดงให้เห็นว่าการจำนองที่ดินประกันหนี้นั้นนายสุพิชญ์ผู้จำนองกับผู้ร้องมีเจตนาประกันหนี้รวมดอกเบี้ยทั้งหมดไม่เกิน 80,000 บาทที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เพียง 80,000 บาทโดยไม่ให้ดอกเบี้ยจากเงินจำนวนนี้นั้นชอบแล้วส่วนที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าธรรมเนียมที่เสียไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นนี้โดยให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้สามัญโดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมบังคับจำนองเพราะกรณีเป็นเรื่องผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้มิใช่ฟ้องร้องบังคับจำนองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะกรณีนี้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองขอให้ขายที่ดินดังกล่าวโดยวิธีปลอดจำนองและขอให้นำเงินที่ขายทอดตลาดได้มาชำระหนี้จำนองก่อนจึงเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วยวิธีการพิเศษตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ดังนั้นผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ผู้ร้องได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการขอรับชำระหนี้จำนองในศาลชั้นต้น เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ผู้ร้องได้รับตามทุนทรัพย์ 80,000 บาทกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาทโดยรับชำระจากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 36547 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share