แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,288,295ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้ตายถึงแก่ความตายในที่ชุลมุนต่อสู้นั้น โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำให้ตาย ดังนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายรุ่งโพธิ์ศรีทอง 1 นัด โดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายรุ่งถึงแก่ความตายทันที นอกจากนี้จำเลยกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้ไม้ท่อนตีทำร้ายนายกิตติพงษ์หรืออ้อม ทองอำไพ ผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เหตุเกิดที่ตำบลบางกระเบา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 295พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ,คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 กับให้ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสมปอง โพธิ์ศรีทองหรืออาจบ้านสร้างมารดาของนายรุ่ง โพธิ์ศรีทอง ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องไม่ปรากฏว่ามีข้อความตอนใดบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย ซึ่งจะมีผลให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 วรรคแรก ได้ด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด คงมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ก็คงบัญญัติแต่เพียงว่า “ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดเช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก และรับของโจร หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ” แต่กรณีของโจทก์มิได้เป็นข้อแตกต่างกันดังที่บัญญัติไว้ดังกล่าวแต่อย่างใด จึงลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหาได้ไม่
พิพากษายืน