คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยในคดีนี้ฟ้องโจทก์ที่ 1 ว่าผิดสัญญาเช่าขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 933/3 และ 933/4และเรียกค่าเสียหายคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ที่ 1ผิดสัญญาเช่า ให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากตึกแถวที่เช่า โจทก์ที่ 1 กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าฉบับเดียวกันดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายดังนี้ ฟ้องคดีก่อนและคดีนี้คงมีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 มาฟ้องเป็นคดีนี้อีกว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ผิดสัญญาฟ้องของโจทก์ที่ 1 คดีนี้จึงซ้ำกับคดีก่อน ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษในคดีก่อน โดยโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่บริวารของโจทก์ที่ 1 ขอให้งดการบังคับคดี และให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทชั้น 2,3 และ 4 ให้แก่โจทก์ที่ 2ส่วนโจทก์ที่ 3 ก็ยื่นคำร้องว่าไม่ใช่บริวารของโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกเลิกการบังคับคดี ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 1 ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 และที่ 3จึงไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด และคดีก่อนประเด็นแห่งคดีมีว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 1หรือไม่ ส่วนคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่าจะบังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้หรือไม่จึงแตกต่างกัน การที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3
โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เมื่อปี 2524 โจทก์ที่ 1 ได้ช่วยออกเงินค่าก่อสร้างตึกแถว 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลย แล้วจำเลยยินยอมให้โจทก์มีสิทธิการเช่าในตึกแถวมีกำหนด22 ปี เมื่อจำเลยก่อสร้างเสร็จได้มอบการครอบครองตึกแถวเลขที่933/3 และ 933/4 ให้โจทก์ที่ 1 เข้าครอบครองเป็นการตอบแทนโดยได้จดทะเบียนการเช่าไว้ 22 ปี แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 อยู่ได้ประมาณ5 ปี จำเลยได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กลั่นแกล้งฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ทำผิดสัญญาเช่าต่อเติมตึกแถวที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารคือโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ออกจากตึกแถวพิพาท ทำให้โจทก์ที่ 1 และบริวารไม่มีสิทธิที่จะอยู่ต่อไปอีก 17 ปี เป็นการผิดสัญญาต่างตอบแทน ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินช่วยค่าก่อสร้างคืนมาจำนวน 772,726.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1ค่าเสียหายที่ถูกไล่เบี้ยเป็นเงิน 600,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จำนวน 300,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์นับแต่วันฟ้องอีกเดือนละ30,000 บาท จนกว่าจะครบกำหนดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของตึกแถว 4 ชั้นเลขที่ 933/3 และ 933/4 โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่ามีกำหนด22 ปีและได้จดทะเบียนการเช่าถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์ที่ 1 ได้ขออนุญาตจำเลยต่อเติมดัดแปลงตึกแถวพิพาทดังกล่าวตั้งแต่ชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 4 แต่ละชั้นทำเป็นห้องนอน5 ห้อง ห้องน้ำ 3 ห้อง รวมทั้งหมด 15 ห้องนอน 9 ห้องน้ำส่วนชั้นล่างนั้นเดิมโจทก์ที่ 1 ใช้เป็นสถานที่ขายแก๊ส และขอเปลี่ยนเป็นร้านขายอาหาร โดยโจทก์ที่ 1 ได้ขอเช่าตึกแถวเลขที่ 933/2จากจำเลยอีกคูหาหนึ่ง และย้ายไปขายแก๊สที่นั่นในการนี้จำเลยยินยอมให้โจทก์ที่ 1 นำห้องทั้งหมดไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 4จากโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาเช่าเดิม คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 โดยช่วยออกเงินค่าดัดแปลงต่อเติมเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 3ได้เข้าไปทำร้านอาหารที่ชั้นล่างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2530 และทำสัญญาเช่ากับโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2530 นอกจากนี้โจทก์ที่ 3 ยังได้เช่าห้องเลขที่ 4/1, 4/2 และ 4/3 ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นที่ 4 ของตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2530 ซึ่งการเช่าของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวได้รับความยินยอมจากจำเลยแล้วจึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบ ซึ่งจำเลยต้องมีความผูกพันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 คือไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามที่ได้ตกลงไว้ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้เงิน 100,000 บาท คืนแก่โจทก์ที่ 2 กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะสิ้นกำหนดเวลาเช่าคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
จำเลยทั้งสามสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เดิมจำเลยในคดีนี้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากตึกแถวพิพาทคดีนี้ และศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์ที่ 1 ทำผิดสัญญาเช่า พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทต่อมาจำเลยบังคับคดีโดยโจทก์ที่ 1 ยอมออกจากตึกแถวพิพาท ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะบริวารไม่ยอมออกไป โดยยื่นคำร้องต่อศาลขอแสดงอำนาจพิเศษว่าโจทก์ที่ 2และที่ 3 ไม่ใช่บริวารของโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงโดยสอบถามความจริงจากคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบริวาร ให้ยกคำร้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างฎีกาซึ่งต่อมาโจทก์ทั้งสามดังกล่าวได้ฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีก่อน) เป็นคดีนี้และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนที่ 2 และที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำนวนแรกให้เป็นพับ ส่วนสำนวนที่ 2 และที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาโจทก์ที่ 1ว่า ฟ้องโจทก์ที่ 1 คดีนี้ซ้ำกับคดีก่อนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่5826/2534 หรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนจำเลยในคดีนี้ฟ้องโจทก์ที่ 1ว่าผิดสัญญาเช่า ให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 933/3 และ 933/4 ถนนอัมรินทร์ แขวงบ้านช้างหล่อเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และเรียกค่าเสียหายคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาเช่า ให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากตึกแถวที่เช่า โจทก์ที่ 1 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าฉบับเดียวกันดังกล่าวและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องคดีก่อนและคดีนี้คงมีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 มาฟ้องเป็นคดีนี้อีกว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ผิดสัญญา ฟ้องของโจทก์ที่ 1 คดีนี้จึงซ้ำกับคดีก่อน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2534 ศาลฎีกาพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 พร้อมบริวารออกจากตึกแถวที่เช่า ชั้นบังคับคดีโจทก์ที่ 1 ยอมออกไปจากตึกแถวที่เช่า ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ โดยโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ที่ 2ได้เช่าช่วงตึกแถวพิพาทชั้น 2, 3 และ 4 จากโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยยินยอมตามสัญญาเช่าฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2529 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่บริวารของโจทก์ที่ 1 ขอให้งดการบังคับคดีให้จำเลย(โจทก์ในคดีก่อน) ไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทชั้น 2, 3 และ 4ให้แก่โจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3 ก็ยื่นคำร้องว่าโจทก์ที่ 3 ได้เช่าตึกพิพาทชั้นล่างทั้งสองคูหาจากโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยยินยอมตามสัญญาเช่าฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2530 และได้เช่าชั้น 4 ห้องเลขที่ 4/1, 4/2 และ 4/3 ของตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 2 โดยจำเลยยินยอมตามสัญญาเช่าฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2530 โจทก์ที่ 3ไม่ใช่บริวารของโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกเลิกการบังคับคดี ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 1 ยกคำร้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาฟ้องคดีนี้และคดีก่อนประเด็นแห่งคดีมีว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 1หรือไม่ แต่คดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่าจะบังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้หรือไม่ แตกต่างกันการฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
พิพากษายืน

Share