คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติให้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่ามูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อคดีนี้จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 119 ถนนสาธรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ สถานที่ที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจากมูลหนี้สัญญากู้เงินระยะสั้นมิได้ฟ้องว่าผิดสัญญากู้เงิน ทั้งไม่อาจถือได้ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงิน การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่มีสัญญากู้เงินระยะสั้นมาแสดง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน จึงต้องนำอายุความตั๋วสัญญาใช้เงินมาใช้บังคับ ไม่ใช่อายุความตามสัญญากู้เงิน คดีจึงมีอายุความสามปีนับแต่วันถึงกำหนดใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 116,453,130.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 63,840,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 69,365,446.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 63,840,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกค้าของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2535 โดยกู้เงินระยะสั้นและออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่บริษัทดังกล่าว ครั้งสุดท้ายจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0382989 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 63,840,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) เมื่อทวงถาม พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยจะจ่ายให้ในวันทำการสุดท้ายของทุก ๆ เดือน ในกรณีที่มีการผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและหรือดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 24 ต่อปี สำหรับต้นเงินค้างชำระนับตั้งแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระครบถ้วน โดยจำเลยทำสัญญาจำนำหุ้นของบริษัทกรีนวัลเล่ เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด ไว้เป็นประกันหนี้ จำเลยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 จำนวน 500,000 บาท ส่วนต้นเงินไม่เคยชำระ วันที่ 24 เมษายน 2540 นายณรงค์ศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนำ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2542 โจทก์ทำสัญญาซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญาเงินกู้ ตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 วันที่ 26 มิถุนายน 2543 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งให้ทราบถึงการรับโอนสิทธิและขอให้ชำระหนี้แต่จำเลยไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ (ศาลชั้นต้น) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) ณ สำนักงานเลขที่ 119 ถนนสาธรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ สถานที่ที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิทำให้เกิดอำนาจฟ้อง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) จึงมีสิทธิฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในการที่จะวินิจฉัยได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ฟ้องในเรื่องอะไร เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 3 ได้บรรยายว่า “จำเลยเป็นลูกค้าของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัท”) โดยจำเลยได้มาขอให้บริษัทสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบการกู้เงินระยะสั้น ซึ่งบริษัทได้อนุมัติให้จำเลยตามที่ขอ และจำเลยได้ใช้สินเชื่อดังกล่าวกับบริษัทตามขอ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และในการเบิกเงินกู้แต่ละครั้ง จำเลยจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนที่ขอเบิกให้แก่บริษัท เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ขอเบิกใช้เงินกู้โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่บริษัทเรื่อยมา โดยครั้งสุดท้ายจำเลยได้มากู้เงินไปจากบริษัท โดยเมื่อจำเลยได้รับเงินไปจากบริษัทแล้ว จำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0382989 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 63,840,000 บาท ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเมื่อทวงถาม พร้อมทั้งคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยในวันทำการสุดท้ายของทุก ๆ เดือน และหากผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและหรือดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 24 ต่อปี สำหรับต้นเงินค้างชำระ นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นครบถ้วน รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงิน (เอกสารหมายเลข 8 ท้ายคำฟ้อง)” เช่นนี้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) จากมูลหนี้อะไร ซึ่งก็คือมูลหนี้จากสัญญากู้เงินระยะสั้น หาใช่ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญากู้เงินแต่อย่างใด เพราะโจทก์มีพียงภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินแนบมาท้ายฟ้องเท่านั้น ไม่มีสัญญากู้เงินแนบมาด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานการกู้เงิน เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงิน เป็นเอกสารคนละประเภทกับสัญญากู้เงิน ยิ่งเมื่อโจทก์นำสืบโจทก์ก็ไม่มีสัญญากู้เงินระยะสั้นมาอ้างเป็นพยานด้วยมีเพียงตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นมาอ้างเป็นพยานเท่านั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน แต่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จึงต้องนำอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินมาบังคับใช้แก่คดีนี้ ไม่ใช่อายุความตามสัญญากู้เงินตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม อายุความจึงเริ่มนับเมื่อทวงถามว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่โจทก์และจำเลยต่างไม่นำสืบว่าจำเลยได้รับหนังสือเมื่อไร แต่หนังสือทวงถามดังกล่าวลงวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 25 เมษายน 2540 เริ่มนับ 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ไปเป็นเวลา 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 ครบกำหนด 3 ปี ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความเสียแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นอื่นนอกจากนี้อีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share