คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมิใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ตาม แต่จำเลยก็มีฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีอำนาจตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ ของโจทก์ที่ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินการที่จำเลยมิได้ วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำอุทธรณ์ก็ดี หรือหากวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ก็ดี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ถนนใหญ่ได้สะดวกพอสมควร และบริเวณใกล้เคียงที่ดินโจทก์ใช้เป็นที่ทำสวน ทำนา และใช้อยู่อาศัยด้วย มิใช่ที่ดินที่ร้างมิได้ทำประโยชน์แต่อย่างใดซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของ จ. 1 กิโลเมตรเศษเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่ จ. ได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 21,000 บาท กับเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้โจทก์ ตารางวาละ 9,500 บาท จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากกว่าหนึ่งเท่าตัว จึงสมควรเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์มากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แต่ที่ดินของโจทก์และบริเวณที่ดินข้างเคียงยังไม่มีสภาพเป็นชุมชน สภาพของถนนที่เข้าสู่ที่ดินของโจทก์เป็นถนนดินลูกรังทั้งยังอยู่ในซอยที่แยกจากซอยสุคนธสวัสดิ์ซึ่งอยู่ห่างจากซอยสุคนธสวัสดิ์ ประมาณ 1 กิโลเมตร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินของ จ. มีสภาพ ทำเล และที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์หรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้น กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,000 บาทจึงสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 14,000 บาท การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยมีคำสั่งให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นทำนองขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์ได้ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอของโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี อันเป็นอัตราคงที่นั้นไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา 26 วรรคสาม แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งให้เพิ่มเงินค่าทดแทนอีก10,455,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน4,335,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ตาม จำเลยในฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเป็นผู้มีอำนาจตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดิน การที่จำเลยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำอุทธรณ์ก็ดีหรือหากวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ก็ดี ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งได้ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่า ควรลดเงินค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์ลงหรือไม่ และศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนในปัญหาเรื่องเงินค่าทดแทนนั้น โจทก์เบิกความประกอบแผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินและสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.8 ว่า ที่ดินของนายจักรกรด วงษ์เพ็ง อยู่ติดซอยสุคนธสวัสดิ์ ได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 21,000 บาท ส่วนที่ดินของโจทก์อยู่ติดซอยขี้เสือใหญ่สามัคคีซึ่งเป็นถนนหินคลุกกว้างประมาณ 8 ถึง 10 เมตร ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากซอยสุคนธสวัสดิ์ประมาณ 1 กิโลเมตร โจทก์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำสวนผลไม้ เมื่อดูตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 ที่ดินของนายจักรกรดที่ถูกเวนคืนจะอยู่ห่างจากทางแยกเข้าซอยขี้เสือใหญ่สามัคคีไม่เกิน 1 กิโลเมตร นายกลยุทธ มณฑาศวิน ซึ่งเป็นนิติกร 6 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ พยานจำเลยก็เบิกความว่า สภาพที่ดินของโจทก์เป็นที่สวน ที่นา บริเวณใกล้เคียงก็เป็นที่สวน ที่นา มีบ้านพักบ้างอยู่ห่างจากซอยสุคนธสวัสดิ์ประมาณ 1 กิโลเมตร ซอยขี้เสือใหญ่สามัคคีเป็นถนนดินลูกรังรถยนต์พอแล่นสวนกันได้ จากที่ดินของโจทก์สามารถออกสู่ถนนรามอินทราได้โดยต้องผ่านซอยสุคนธสวัสดิ์เข้าซอยอยู่เย็นแล้วไปออกถนนรามอินทราที่กิโลเมตรที่ 5 ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 3 กิโลเมตร ตามคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ถนนใหญ่ได้สะดวกพอสมควร ที่ดินของโจทก์และบริเวณใกล้เคียงใช้เป็นที่ทำสวน ทำนา และใช้อยู่อาศัยด้วย มิใช่ที่ดินที่ทิ้งร้างมิได้ทำประโยชน์แต่อย่างใดและอยู่ห่างจากที่ดินของนายจักรกรด1 กิโลเมตรเศษเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่นายจักรกรดได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 21,000 บาท จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากกว่าหนึ่งเท่าตัว โดยมากกว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้โจทก์ถึงตารางวาละ 11,500 บาทสมควรเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์มากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,000 บาทนั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.15ถึง จ.18 ว่า นายแจ่ม พุ่มอุไร ขายที่ดิน 2 แปลง ไปในปี 2533ซึ่งคิดเป็นเงินตารางวาละ 16,250 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินของนายแจ่มไม่มีทางเข้าออกนั้นเป็นเพียงการซื้อขายที่ดินเฉพาะราย มิอาจถือเป็นราคาที่ซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดได้ ตามคำเบิกความของโจทก์และนายกลยุทธดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าที่ดินของโจทก์และบริเวณที่ดินข้างเคียงยังไม่มีสภาพเป็นชุมชนที่จะทำให้ที่ดินโจทก์มีราคาสูงมากนักสภาพของถนนที่เข้าสู่ที่ดินของโจทก์ก็ยังไม่ดีเพราะเป็นถนนดินลูกรังทั้งยังอยู่ในซอยที่แยกจากซอยสุคนธสวัสดิ์อยู่ห่างจากซอยสุคนธสวัสดิ์ประมาณ 1 กิโลเมตร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินของนายจักรกรดมีสภาพ ทำเล และที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,000 บาท จึงสูงเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ14,000 บาท และการที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยมีคำสั่งให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์มีลักษณะเป็นทำนองขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นเอง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ได้ ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนเรื่องดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละ7 ครึ่งต่อปีเป็นอัตราคงที่นั้นไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน2,295,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

Share