คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำนิติกรรมให้โจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ รู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของรัฐบาลแล้วยังขืนทำการโอนให้โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ฟ้องขับไล่ ศาลฎีกาพิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท ทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ เมื่อคดีฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นับแต่วันที่โจทก์ทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทจนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลเป็นเวลาห่างกันถึง 21 ปี และโจทก์เพิ่งยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์ได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนแล้วถึง 2 ปีเศษ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างนายสนกับโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ รู้ว่าที่ดินเป็นของรัฐบาลยืนขืนทำการโอนให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๒ โดยตำแหน่งนายอำเภอเซ็นโอนนิติกรรมตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ ๓ เป็นอธิบดีกรมที่ดิน มีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในสายงานซึ่งเกี่ยวกับที่ดินของรัฐบาล ซื้อแล้วโจทก์ครองครองโดยสงบเปิดเผยตลอดมา ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ฟ้องขับไล่โจทก์ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินรัฐบาลอยู่ในเขตผังเมือง ศาลฎีกาพิพากษาขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่พิพาท คดีถึงที่สุดทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๕๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่๑
โจทก์อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้วอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รับฟ้องจำเลยที่ ๓ ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โจทก์จะซื้อที่ดินหรือไม่ ไม่ทราบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่๑ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ หากแต่เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง คดีขาดอายุความฟ้องร้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ เป็นส่วนตัว มิได้ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวมิได้รู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ เพราะขณะนั้นจำเลยที่ ๓ มิได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดินกรมที่ดินและจำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด ความผิดพลาดเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีขาดอายุความ
วันชี้สองสถาน คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า คดีที่โจทก์ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ฟ้องขับไล่ออกจากที่พิพาทนั้น โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๘
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายและวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่แผนกที่ดินของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำโดยจงใจประมาทเลินเล่อรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐบาลแล้วยังขืนทำนิติกรรมโอนให้โจทก์ และต่อมาโจทก์ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ฟ้องขับไล่ ศาลฎีกาพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท ดังนี้เห็นว่าฟ้องโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้โจทก์โดยมิได้สอบสวนก่อนว่าที่พิพาทเป็นของรัฐบาลอยู่ในเขตผังเมืองหรือไม่ ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ดังกรณีที่โจทก์ฟ้องนี้ การกระทำก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์นั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากรัฐเอาที่ดินคืนดังฎีกาของโจทก์ไม่ ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความเรื่องละเมิดมาใช้บังคับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘ บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันฟ้องที่ผู้เสียหายรู้ถึงการกระทำและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิด” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำนิติกรรมซื้อที่พิพาทจากนายสน เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๙ โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๘ และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลละเมิดเป็นคดีนี้ตอ่ศาลเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์ทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาท จนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ ๒๑ ปี และนับตั้งแต่วันที่โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ ๒ ปีเศษ ดังนี้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share