คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติถึงเรื่องพยานเอกสารมหาชนไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันว่าด้วยการนำสืบเอกสารมหาชนมาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 226 บัญญัติไว้
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยอ้างคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานจำเลย แต่จำเลยมิได้ถามค้านโจทก์หรือพยานโจทก์ถึงว่าได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนอย่างใดไว้ ศาลจึงรับเอาคำให้การชั้นสอบสวนมาเป็นข้อเสื่อมเสียแก่คดีโจทก์ไม่ได้นั้น ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลชั้นต้นจกแจ้งข้อโต้แย้งนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 และ มาตรา 226(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ จำเลยได้ครอบครองเรือลำเลียง “จวง” พร้อมด้วยเครื่องจัก เครื่องใช้ เครื่องอะไหล่ประจำเรือ รวมราคา ๑๑๐,๕๐๐ บาท ของนายดำรงค์ฤกษ์ชัยรัศมี ระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จนถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๖ จำเลยได้บังอาจเบียดบัง เอาเรือลำเลียง “จวง” พร้อมด้วยเครื่องจักร เครื่องใช้ และเครื่องอะไหล่ประจำเรือเป็นของตนโดยทุจริต ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้วภายในอายุความ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ และให้จำเลยคืนหม้อน้ำหนึ่งใบที่อายัดไว้ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคา ๘๐,๕๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายดำรงค์ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลแขวงธนบุรีไม่เชื่อว่าจำเลยได้ขายเรือจำเลียง “จวง” ไปโดยทุจริตเบียดบังดังโจทก์ฟ้องแต่ทั้งสองฝ่ายจะมีสิทธิและมีส่วนได้กันอย่างไร รวมทั้งหม้อน้ำที่ขออายัดไว้เป็นของกลางด้วยนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยพนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมผู้เดียวฎีกา
ศาลแขวงธนบุรีรับฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฎีกาข้อ ๓ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมได้ประมูลซื้อเรือ “จวง” จากกรมอู่ทหารเรือ และได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องดังหนังสือซื้อขายที่โจทก์อ้างอันเป็นเอกสารมหาชน เรือจวงก็ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมผู้เดียว การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยและผู้อื่นมีหุ้นอยู่ในเรือจวงด้วยเป็นการสืบแก้ไขเอกสารจึงไม่มีสิทธินำสืบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องพยานเอกสารมหาชนไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันว่าด้วยการนำสืบเอกสารมหาชนมาใช้บังคับ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๗ บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง ฯลฯ เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารเมื่อเป็นดังนี้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายยอมให้จำเลยนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องที่โจทก์ร่วมอ้างว่าเรือ “จวง” เป็นกรรมสิทธิ์ของตนแต่ผู้เดียวได้
ส่วนฎีกาข้อ ๔ ของโจทก์ร่วมมีความว่า จำเลยอ้างคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานจำเลย แต่จำเลยมิได้ถามค้านโจทก์หรือพยานโจทก์ว่าได้ให้การในชั้นสอบสวนอย่างไร ศาลจึงรับเอาคำให้การชั้นสอบสวนมาเป็นข้อเสื่อมเสียแก่คดีโจทก์ไม่ได้ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลจดข้อโต้แย้งนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรือยื่นคำโต้แย้งคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ และ ๒๒๖(๒) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕ แต่ฝ่ายโจทก์ได้ปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้
พิพากษายืน

Share