คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินมิได้กำหนดให้โจทก์ต้องรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินก่อนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้จำเลย การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าโจทก์ไม่ดำเนินการถือว่าผิดสัญญาเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ศาลไม่อาจรับฟังคำพยานบุคคลดังกล่าวได้ และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 321,562.50 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เนื่องจากวันที่ 21 ตุลาคม 2536 จำเลยทำสัญญาซื้อที่ดินโจทก์ 1 แปลง ในราคา 1,500,000 บาท โจทก์ให้จำเลยวางมัดจำเป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ จำเลยให้โจทก์ทำการรังวัดสอบเขตดูว่าเนื้อที่ดินครบตามสัญญาหรือไม่ แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการรังวัดและจำเลยทราบว่าที่ดินโจทก์ถูกทางราชการเวนคืนบางส่วน อีกทั้งในวันกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาที่ดินโจทก์มีภาระผูกพันเกี่ยวกับสัญญาขายฝากไว้กับบุคคลอื่น โจทก์จึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยตามสัญญา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงแจ้งระงับการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536 จำเลยทำสัญญาจะซื้อบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 6322 ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กับโจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ในวันทำสัญญาจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระเป็นค่ามัดจำเป็นเงิน300,000 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างเหตุว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระเป็นค่ามัดจำราคาบ้านและที่ดินที่จำเลยตกลงจะซื้อจากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 3 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (หมายถึงโจทก์) ได้รับค่ามัดจำสามแสนบาทถ้วน และที่เหลือจะโอนกันต่อเมื่อมีการเวนคืนที่ดินแปลงที่อยู่ของนางสมพร ดุลณกิจ (หมายถึงจำเลย) ข้าพเจ้าได้รับค่ามัดจำไปแล้ว ถ้ามีการบิดพลิ้วให้ปรับสามเท่าตัวไม่ว่าฝ่ายซื้อและฝ่ายขาย จะทำการโอนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 36″ โดยไม่ปรากฏข้อตกลงที่ระบุไว้เป็นข้อความว่าโจทก์จะต้องไปดำเนินการรังวัดตรวจสอบจำนวนเนื้อที่ดินก่อนโอนให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบว่าภายหลังที่ทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ไปดำเนินการรังวัดตรวจสอบจำนวนเนื้อที่ดินว่ายังอยู่ครบตามสัญญาหรือไม่ เพราะจำเลยทราบมาว่าที่ดินดังกล่าวจะถูกเวนคืนบางส่วน ในวันที่ 30 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์นั้น เห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าว มิได้ระบุกำหนดให้โจทก์ต้องดำเนินการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินก่อนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้จำเลยคงระบุไว้เฉพาะเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างโจทก์จำเลยกันไว้เท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า โจทก์ไม่ไปดำเนินการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาทำให้เช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายชำระค่ามัดจำไม่มีมูลหนี้นั้นเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อขาย ต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ศาลไม่อาจที่จะรับฟังคำพยานบุคคลของจำเลยดังกล่าวได้ ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นี้ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบเรื่องโจทก์ต้องไปรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินตามสัญญาก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยต้องห้ามมิให้นำสืบตามกฎหมาย คดีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระเป็นค่ามัดจำราคาบ้านและที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และเมื่อเช็คพิพาทดังกล่าวถึงกำหนดการใช้เงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อันเป็นวันผิดนัดให้แก่โจทก์ผู้ทรง เพราะมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดจากการชำระหนี้ค่ามัดจำ เมื่อจำเลยไม่ชำระราคาบ้านและที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิรับมัดจำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่ามัดจำดังกล่าวจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ หาใช่มูลหนี้ดังกล่าวระงับไปแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าขณะทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ได้นำบ้านและที่ดินไปขายฝากนางไสว ขันสัมฤทธิ์ ไว้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดเงื่อนไขของสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องชำระต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลแพ่งธนบุรี)โจทก์ทำสัญญาขายฝากไว้แก่นางไสวตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 มีกำหนดสองปี ขณะทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2536 ยังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์ผู้ขายจะไถ่ทรัพย์คืนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยผู้ซื้อได้หากจำเลยชำระราคาครบถ้วนตามที่ตกลงไว้ในสัญญา ดังจะเห็นได้ว่าก่อนครบกำหนดไถ่ถอนโจทก์ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝากจากนางไสว กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินกลับเป็นของโจทก์เช่นเดิมและโจทก์ได้ทำนิติกรรมขายฝากบ้านและที่ดินตามจำนวนเนื้อที่เท่าที่ตกลงทำสัญญากับจำเลยไว้ให้แก่บุคคลอื่นต่อไปอีก ทั้งจำเลยเองก็มิได้ถือเอาสัญญาข้อ 2ตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นสารสำคัญโดยจำเลยมิได้นำสืบถึงการขายฝากเพื่ออ้างเป็นเหตุเลิกสัญญากับโจทก์ ประกอบกับจำเลยเบิกความว่าหากเนื้อที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเท่าใด จำเลยก็ยังประสงค์จะซื้อตามเนื้อที่ดินที่แท้จริงจำเลยมิได้ถือเอาเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 นี้มาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญากับโจทก์แต่อย่างใด จึงจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 21,562.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ)

Share