คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทแต่ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำผิดในฐานะผู้ดำเนินการตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ทั้งมิได้อ้างมาตรา 69 ซึ่งเป็นบทลงโทษเฉพาะผู้ดำเนินการมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ มาตรา 70 พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ ที่บัญญัติว่า “ถ้า การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม…ต้องระวางโทษ…” หมายรวมความผิดทุกอย่างที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ หากมีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ลงโทษตามมาตรานี้ได้หาจำต้องเป็นความผิดที่เกี่ยวกับตัวอาคารโดยตรงไม่ เมื่อจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 44 ซึ่งจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 67 และอาคารที่จำเลยกระทำผิดเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม ศาลจึงนำมาตรา 70 มาปรับบทลงโทษแก่จำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลบยเป้นเจ้าจของและผู้ครอบยครองอาคารตึกแถว3 ชั้น เลขที่ 8/937-939 ซอยจัดสรรปูนซิเมนต์ ถนนประชาชื่นแขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ห้อง เพื่อใช้ในการพาณิชยกรรมและอยู่อาศัย อันเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ครั้นระหว่างเดือนมกราคม 2531 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2531เจ้าพนักงานจของสำนักงานบางเขนได้ตรวจพบว่า จำเลยได้ใช้อาคารดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ โดยจำเลยประกอบกิจการค้าขายและพาณิชยกรรมและอยู่อาศัย โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่ได้ออกใบรับรองและอนุญาตให้ใช้อาคารดังกล่าวได้ ต่อมาวันที่12 กรกฎาคม 2531 เจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ทำคำสั่งเป็นหนังสือเลขที่ 9011/7895 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 สั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคารดังกล่าวจนกว่าจะได้รับใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น คำสั่งดังกล่าวได้ปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยที่บริเวณตัวอาคารให้จำเลยทราบตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2531 จำเลยได้รับทราบและถือว่าได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2531ครั้นระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2532เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ซึ่งเป็นวันเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ออกใบรับรองการใช้อาคารให้จำเลยได้ใช้อาคารดังกล่าวซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ โดยประกอบการค้าและพาณิชยกรรมและอยู่อาศัยตลอดมาอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เหตุเกิดที่แขวงลาดยาวเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 32, 44, 65, 67, 70 นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4140/2532 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 32, 44, 65, 67, 70 เรียงกระทงลงโทษ ฐานใช้อาคารเพือ่กิจการพาณิชยกรรมซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมใช้โดยเจ้าหพนักงานท้องถิ่นยังไม่ได้ออกใบรัอบรองและอนุญาตให้ใช้อาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 32, 65ประกอบมาตรา 69, 70 ปรับ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 4, 32, 44, 67 ประกอบมาตรา 69, 70ปรับวันละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่24 เมษายน 2532 เป็นเวลา 272 วัน ปรับ 2,720,000 บาท รวมปรับ 2,740,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 1,370,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคีดหมายเลขดำที่ 4140/2532คดีหมายเลขแดงที่ 3792/2532 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยในข้อหาแรก 10,000 บาทโดยนับเดียวกันในข้อหาที่สอง คงปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาทนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2532 เป็นเวลา272 วันเป็นเงิน 1,360,000 บาท รวมปรับทั้งสิ้น 1,370,000 บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ685,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทแล้ว แม้ไม่ได้อ้างมาตรา 69แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ย่อมนำมาตราดังกล่าวมาปรับแก่คดีโดยลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าได้ ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 69 บัญญัติความว่า “ถ้าการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ” กฎหมายมาตรานี้บัญญัติโทษของผู้ดำเนินการหนักขึ้นว่ากรณีธรรมดา ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้ดำเนินการไว้ว่าให้หมายความถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งกระทำการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วยตนเองและหมายความรวมถึงผู้ซึ่งตกลงรับกระทำการดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และผู้รับจ้างช่วง แม้ตามฟ้องโจทก์จะระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาท แต่ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำผิดในฐานะเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายของกฎหมาย ทั้งโจทก์มิได้อ้างมาตรา 69 ซึ่งเป็นบทลงโทษเฉพาะผู้ดำเนินการมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงเห็นได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะเป็นผู้ดำเนินการ ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192…
สำหรับฎีกาจของจำเลย จำเลยฎีกาว่า ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 44 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะนำมาตรา 70 มาปรับบทลงโทษด้วย เพราะได้ใช้ปรับกับความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยยังไม่ได้ใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 32 ไปแล้ว และมาตรา 67 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 44 ก็มุ่งเน้นถึงลักษณะการฝ่าฝืนคำสั่งมิได้มุ่งเน้นในลักษณะของตัวอาคาร จึงปรับจำเลยในข้อนี้ได้เพียงวันละ 500 บาท เท่านั้น หาใช่วันละ 10,000 บาทดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 70 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม… ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ” กรณีตามมาตรา 70นี้หมายรวมความผิดทุกอย่างที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหากมีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ลงโทษตามมาตรานี้ได้หาจำต้องเป็นความผิดที่เกี่ยวกับตัวอาคารโดยตรงไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม มาตรา 44 ซึ่งจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 67 แล้ว และอาคารที่จำเลยกระทำผิดเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะนำมาตรา 70 มาปรับบทลงโทษแก่จำเลยได้…”
พิพากษายืน.

Share