คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 3 เท่านั้น โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกันก่อนที่จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นคนอื่นก่อนที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะมีอยู่อย่างไร จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ไม่อาจเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเองจึงไม่อาจโอนหุ้นแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้โอนหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์
บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แท้จริงเพียงเพื่อถือที่ดินแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง และดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับที่ดินนั้น ในส่วนของผู้ถือหุ้นคิดคำนวณจำนวนหุ้นตามสัดส่วนที่ดินที่เป็นเจ้าของ มิได้ถือหุ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ประการอื่น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องจำนวนหุ้นจึงมีนัยเดียวกันกับเรียกร้องเอาที่ดินคืน ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์ ก็ให้ใช้ราคาหุ้นตามราคาที่ดิน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2546)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์จำนวน 37,590 หุ้น หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 21958, 22039, 22029, 21942, 21949, 21915, 21745, 21982, 21932, 21950, 21956, 21929, 22044, 22037, 22028, 22016, 21945, 21947, 21739, 21750, 21734, 21763, 21765, 21762, 21758, 21757, 21767, 21936, 21954, 21938, 22040, 21946, 21737, 21934, 21951, 21952, 22043, 22035, 21913, 21747, 21749, 21733, 21957, 22045, 22038, 22033, 21948, 21741, 21746, 21935, 21983, 21931, 21930, 21959, 21939, 21940, 22042, 22032, 22027, 22030, 21736, 21740, 21744, 21748, 21916, 21937, 22036, 22034, 22031, 22024, 21914, 21742, 21752, 21764, 22041, 22025, 21941, 21933, 21924, 21943, 21735, 21743, 21955, 21953, 22026, 21944, 21733, 21751 ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย บางส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 100 ไร่ ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษี หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากจำเลยทั้งสามไม่จัดการโอนหุ้นหรือที่ดินดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์จำนวน 37,590 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.74 ของหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่สามารถปฏิบัติ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท แทนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการโอนหุ้นให้แก่โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,759,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เห็นควรเป็นพับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกนางลลิตาภริยาของจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทน นางลลิตาไม่คัดค้าน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 ขึ้นมา มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการที่มีอำนาจทำการในนามจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมลงทุนซื้อที่ดินกันก่อนที่จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นคนอื่นก่อนที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะมีอยู่อย่างไร จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ไม่อาจเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 จึงไม่อาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลใดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนหุ้นของโจทก์ให้แก่โจทก์แล้วจะต้องรับผิดเพียงใด ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แท้จริงเพียงถือที่ดินแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับที่ดินนั้น ในส่วนของผู้ถือหุ้นคิดคำนวณจำนวนหุ้นตามสัดส่วนที่ดินที่เป็นเจ้าของ มิได้ถือหุ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ประการอื่น ด้วยเหตุดังกล่าวศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การใช้สิทธิเรียกร้องจำนวนหุ้นมีนัยเดียวกันกับเรียกร้องเอาที่ดินคืน ราคาที่ดินที่เรียกร้อยโจทก์นำสืบว่าราคาไร่ละกว่า 100,000 บาท จำเลยที่ 1 เบิกความว่าไร่ละ 200,000 ถึง 600,000 บาท ดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ราคาไร่ละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในกรณีไม่สามารถโอนหุ้นแก่โจทก์ให้ใช้ราคา 3,759,000 บาท มีผลเท่ากับตีราคาที่ดินไร่ละ 37,590 บาท ผิดจากที่คู่ความนำสืบไม่ถูกต้อง สมควรกำหนดไร่ละ 100,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท ส่วนปัญหาเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ สมควรแก้ไขให้เหมาะสม ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของจำเลยที่ 1 ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์จำนวน 37,590 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.74 ของหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share