คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมก่อนได้รับใบรับรองการก่อสร้าง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯมาตรา 32,65 แต่ฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองใช้อาคารที่ก่อสร้างวันใดระยะเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด คือระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2531ถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 นั้น ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเสร็จเมื่อใด เปิดใช้อาคารเมื่อใด แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ เมื่อไม่มีวันที่จำเลยทั้งสองใช้อาคารที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อใด จึงไม่อาจคำนวณโทษปรับนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองใช้อาคารที่สร้างเสร็จโดยไม่ได้รับใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) ศาลไม่อาจลงโทษปรับเป็นรายวันตามพ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลบงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 32, 44, 65, 67, 70, 72 กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2527)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 5มีนาคม 2527 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสอง, 44, 65 วรรคหนึ่ง,67, 70 ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันใช้อาคารประเภทควบคุมก่อนได้รับใบรับรองการก่อสร้าง วางโทษปรับคนละ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการใช้อาคารรวม 56วัน วางโทษปรับคนละ 5,000 บาทต่อวัน คงปรับคนละ 280,000 บาทรวมโทษ 2 กระทง ปรับคนละ 300,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษปรับคนละ 150,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ที่แก้ไขใหม่
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า ความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมก่อนได้รับใบรับรองการก่อสร้างตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32, 65 ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 20,000 บาท เป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 65 วรรคหนึ่งให้วางโทษปรับ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องปรับเป็นสองเท่าตามมาตรา 69 อาคารที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม ต้องปรับอีกสิบเท่าตามมาตรา 70 รวมแล้วต้องปรับคนละ 200,000 บาท นั้น เห็นว่าในข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์เพิ่งจะยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบกับมาตรา 225 และแม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรวินิจฉัยให้
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ในข้อหาดังกล่าวจำเลยจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสองด้วย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ปรับวันละ 500 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง และต้องปรับเพิ่มตามมาตรา 69 และมาตรา 70 อีก เป็นปรับวันละ 10,000 บาท รวมเวลาฝ่าฝืนตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 เป็นเวลา99 วัน รวมแล้วจะต้องปรับจำเลยคนละ 990,000 บาท ซึ่งในข้อหานี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้อาคารพิพาทตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 ก่อนได้รับใบรับรองการก่อสร้าง หาใช่โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 32 นับแต่วันใดดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก. ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยงติดต่อกันจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตึด 5 ชั้น ตึก 33 ชั้นจำนวน 1 หลัง ณ เลขที่ 889 ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสานกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชยกรรมที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าหรือธุรกิจที่มีพื้นที่ประกอบกิจการตั้งแต่แปดสิบตารางเมตรขึ้นไป และเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามกฎกระทรวงจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างอาคารจนเสร็จแล้ว ได้บังอาจร่วมกันเปิดใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าวโดยเปิดร้านขายสินค้า ภัตตาคารและที่จอดรถก่อนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้ออกใบรับรองการก่อสร้างอาคารดังกล่าวว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองใช้อาคารที่ก่อสร้างวันใด ระยะเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดคือระหว่างวันที่ 2มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 นั้น ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเสร็จเมื่อใด เปิดใช้อาคารเมื่อใดแม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่มีทางที่จะปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมารบัญญัติไว้ได้ จะแปลเอาว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้อาคารพิพาทตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2531 ก่อนได้รับใบรับรองการก่อสร้างดังฎีกาโจทก์หาได้ไม่ เมื่อไม่มีวันที่จำเลยทั้งสองใช้อาคารที่สร้างเสร็จแล้วเมื่อใด จึงไม่อาจคำนวณโทษปรับนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองใช้อาคารที่สร้างเสร็จโดยไม่ได้รับใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ศาลล่างทั้งสองไม่ลงโทษปรับเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522มาตรา 65 วรรคสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่า ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้จำเลยทั้งสองระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44 ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยคนละ 5,000 บาทต่อวัน เป็นการลงโทษต่ำกว่าที่กฎฆมายกำหนด เพราะมาตรา 67 ให้ระวางโทษปรับคนละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการต้องปรับเป็นสองเท่าตามมาตรา 69 อาคารที่จำเลยทั้งสองเปิดใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรม ต้องปรับอีกสิบเท่าตามมาตรา 70 จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเวลา 56 วัน รวมแล้วต้องปรับคนละ 560,000 บาทนั้นในข้อนี้โจทก์ก็มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เช่นเดียวกับฎีกาข้อแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน.

Share