คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 หรือไม่ และปัญหาว่าหนี้เงินมัดจำที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้นั้นเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ แม้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ วันและเวลาเกิดการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 คือวันและเวลา ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หาใช่วันและเวลาที่ เขียนข้อความในเช็คหรือวันที่มอบเช็คไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยเขียนข้อความในเช็คพิพาทหรือมอบเช็คพิพาทให้โจทก์เวลาใด สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีการวางเงินมัดจำ แม้สัญญาจะซื้อขายที่ดินจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย ลงวันที่2 กันยายน 2539 จำนวนเงิน 133,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ เรียกเก็บเงินไม่ได้ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2539 โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4จำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนเพชรเกษม ลงวันที่ 2 กันยายน 2539จำนวนเงิน 133,000 บาท อันเป็นเช็คพิพาทให้โจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระ เรียกเก็บเงินไม่ได้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2539 โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย
มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158หรือไม่ ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว แม้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 โดยจำเลยฎีกาว่าคำฟ้องของโจทก์ระบุแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คลงวันที่ 2 กันยายน 2539แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนอันเป็นเวลากระทำความผิด เห็นว่าวันและเวลาเกิดการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 คือวันและเวลาที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หาใช่วันและเวลาที่เขียนข้อความในเช็คหรือวันที่มอบเช็คไม่ ตามฎีกาของจำเลยพอแปลความหมายได้ว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยเขียนข้อความในเช็คพิพาทหรือมอบเช็คพิพาทให้โจทก์เวลาใด ซึ่งเวลาดังกล่าวไม่ใช่เวลาเกิดการกระทำความผิด โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง
ปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระเงินมัดจำคืนโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระเงินมัดจำคืนโจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่าหนี้เงินมัดจำที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระนั้น เป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว แม้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 เป็นใบรับและสำเนาบันทึกการชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.2 เป็นใบรับรองหนี้ เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ แต่ตราสารทั้งสองฉบับไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงนำมาฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้ มูลหนี้ตามเอกสารดังกล่าวเป็นมูลหนี้ที่จะบังคับตามกฎหมายไม่ได้เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ฯลฯ” เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติว่ามูลหนี้ตามตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะนำตราสารนั้นมาฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้อย่างไรก็ดี คดีนี้ได้ความว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีการวางเงินมัดจำ ดังนั้น แม้สัญญาจะซื้อขายที่ดินจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ โจทก์ก็ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยถึง8 เดือนนั้นเห็นว่าหนักเกินไป สมควรลงโทษเบาลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share