แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่2ได้ไปปรึกษาจำเลยที่3เกี่ยวกับเรื่องจะว่าจ้างทนายความในการดำเนินการขายที่ดินจำเลยที่3ได้พาไปหาส. ซึ่งเป็นญาติทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความแล้วจึงได้มีการจ้างทนายความที่สำนักงานทนายความนั้นให้เขียนสัญญาซื้อขายและจำเลยที่3เป็นเพียงพยานในสัญญาซื้อขายเท่านั้นส่วนการดำเนินการขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเรื่องที่จำเลยที่2กับทนายความของจำเลยที่2เป็นผู้ดำเนินการเมื่อจำเลยที่3ไม่ได้เป็นผู้ออกอุบายและร่วมตกลงใจให้จำเลยที่2ดำเนินการดังกล่าวแต่เป็นเรื่องที่เป็นการกระทำอันเกิดแต่เจตนาของจำเลยที่2เองมาตั้งแต่แรกเพียงแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างใดจึงต้องให้ทนายความช่วยดำเนินการให้ส่วนการที่จำเลยที่3ไปรับเงินจากโจทก์ที่3มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่3ไปรับเงินเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่3เองแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นลุงใช้ให้จำเลยที่3ซึ่งเป็นหลานช่วยไปรับเงินแทนเท่านั้นดังนี้แม้จำเลยที่2จะกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็จะฟังว่าจำเลยที่3มีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดของจำเลยที่2ด้วยไม่ได้ ค่าเสียหายจากการขาดกำไรในการขายที่ดินพิพาทที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นเรื่องอนาคตยังไม่แน่นอนโจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า เดิมนางเอิบ คุ้มภัยหรือคุ้มไพเป็นภรรยานายสาครหรือคอน ขุนประชา หลังจากนายสาครถึงแก่กรรม นางเอิบได้จำเลยที่ 2 เป็นสามี และก่อนนางเอิบถึงแก่กรรมประมาณ 10 ปี นางเอิบได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3152 และ3153 ให้นายประจวบ ขุนประชา ซึ่งเป็นบุตร แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายประจวบกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางปี 2528 นายประจวบจงใจหรือประมาทเลินเล่อมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครอง และนำคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยนายประจวบไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ครั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทั้งสองแปลงนั้นให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 สมรู้กับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 นายประจวบฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยโดยเรียกโจทก์ที่ 3เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง ระหว่างพิจารณานายประจวบถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนและในที่สุดศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่งมอบที่ดินและโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1การกระทำของนายประจวบ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้างต้นทำให้โจทก์เสียหายคือค่าปรับปรุงที่ดิน 40,000 บาท ค่าขาดกำไรจากการขายที่ดิน 1,400,000 บาท เงินค่าที่ดินที่ซื้อมา 168,000 บาทรวมเป็น 1,608,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,608,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายประจวบ ขุนประชา ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลอกลวงโจทก์ทั้งสี่ ขณะที่จำเลยที่ 2ขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นายประจวบบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดตรีญาติไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว เมื่อนายประจวบทราบเรื่องก็แจ้งอายัดที่ดินไว้ทันทีนายประจวบไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ดังฟ้อง ความจริงนายประจวบไปทำงานต่างจังหวัดได้ฝากโฉนดที่ดินไว้กับนายทองน้องมารดาจำเลยที่ 2 ทราบจึงหลอกเอาโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากนายทองและเหตุที่นายประจวบไม่ร้องคัดค้านขณะที่จำเลยที่ 2 ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ก็เพราะนายประจวบไม่ทราบเรื่องมาก่อน นอกจากนี้นายประจวบยังฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นฐานเบิกความเท็จด้วย นายประจวบจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 2 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
จำเลย ที่ 3 ขาดนัด ยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้เรียกพันตำรวจตรีชาตรี สุวรรณภักดี และนางวันวิสาข์ มงคลนาวิน ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 168,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ ทั้ง สี่ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สี่ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในค่าเสียหายสำหรับค่าปรับปรุงที่ดินจำนวน 40,000 บาท และค่าขาดกำไรจากการขายที่ดินพิพาทจำนวน 1,400,000 บาท ต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปปรึกษาจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องจะว่าจ้างทนายความที่ไหนในการดำเนินการขายที่ดิน จำเลยที่ 3ได้พาไปหานางสาวสุภาพ ซึ่งเป็นญาติทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความแสงทอง แล้งจึงได้มีการจ้างทนายความที่สำนักงานทนายความแสงทองให้เขียนสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 3เป็นเพียงพยานในสัญญาซื้อขายเท่านั้น ส่วนการดำเนินการขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กับทนายความของจำเลยที่ 2เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้ออกอุบายและร่วมตกลงใจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่เป็นการกระทำอันเกิดแต่เจตนาของจำเลยที่ 2 เองมาตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างใดจึงต้องให้ทนายความช่วยดำเนินการให้ ส่วนการที่จำเลยที่ 3ไปรับเงินจากโจทก์ที่ 3 จำนวน 10,000 บาท นั้นโจทก์ที่ 3 เองก็ได้เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 3 ไปเอาเงินจากโจทก์ที่ 3 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ไปรับเงินเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เอง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลุงใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลานช่วยไปรับเงินแทนเท่านั้น จึงจะฟังว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายทั้งหลายตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วน ค่าเสียหาย จาก การ ขาด กำไร ใน การ ขาย ที่ดินพิพาทที่ โจทก์ เรียกร้อง มา จำนวน 1,400,000 บาท นั้น เห็นว่าค่าเสียหาย เรื่อง ขาด ผล กำไร เป็น เรื่อง อนาคต ยัง ไม่แน่ นอนโจทก์ จึง ไม่อาจ เรียกร้อง ค่าเสียหาย ใน ส่วน นี้ ได้ ที่ ศาลล่าง ทั้ง สองไม่ให้ ค่าเสียหาย ทั้ง สอง ประการ ดังกล่าว ศาลฎีกา เห็นพ้อง ด้วย
พิพากษายืน