คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ ป. อยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ.2477 ใช้บังคับจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ดินพิพาทโจทก์กับ ป. ได้มาเมื่อปี 2491 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ป. การจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477มาตรา 1468,1473 และมาตรา 1462 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ป. ย่อมมีอำนาจจัดการสินบริคณห์เองได้ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันและมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ก็ตามแต่การใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7 ของ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ป. สามีโจทก์ จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บัญญัติไว้ และอำนาจจัดการนั้น มาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่า ให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ป. สามีโจทก์มีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างป. กับจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องขอเพิกถอน การสมรสระหว่างโจทก์กับ ป. ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียแล้ว แม้ต่อมาโจทก์กับ ป. ได้จดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในปี 2522 ย่อมไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ป. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แต่งงานตามประเพณีกับนายปรุง ประทับวงศ์เมื่อโจทก์อายุ 25 ปี และจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2522ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 362 โจทก์และนายปรุงได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 นายปรุงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 362 ระหว่างนายปรุงกับจำเลย เฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสของนายปรุงกับโจทก์เพราะนายปรุงซื้อมาก่อนแต่งงานอยู่กินกับโจทก์ โจทก์รู้เห็นและมิได้คัดค้านการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์กับนายปรุงอยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 มีบุตร 4 คน คือนายปลิว นางไพบูลย์ นายประยงค์ และนางพเยาว์ เมื่อวันที่12 เมษายน 2491 มีชื่อนายปรุงสามีโจทก์ ซื้อที่ดินพิพาทจากนายเคลิ้ม พรรณโภชน์ วันที่ 12 กันยายน 2522 โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกัน วันที่ 29 เมษายน 2531 นายปรุงจดทะเบียนโอนขานที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย วันที่ 2 พฤศจิกายน 2532นายปรุงถึงแก่ความตาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์กับนายปรุงอยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ใช้บังคับจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ดินพิพาทโจทก์กับนายปรุงได้มาเมื่อปี 2491 จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุง การจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มาตรา 1468 บัญญัติว่า “สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ เว้นแต่ในสัญญาก่อนสมรสจะได้กำหนดให้ภริยาเป็นผู้จัดการหรือให้จัดการร่วมกัน” และมาตรา 1473 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”นอกจากจะมีสัญญาก่อนสมรสไว้เป็นอย่างอื่น สามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้” ซึ่งสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 ได้แก่สินเดิมและสินสมรส ดังนั้น ที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงจึงเป็นสินบริคณห์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น นายปรุงย่อมมีอำนาจจัดการสินบริคณห์เองได้ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า”นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า”ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้” ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้และวรรคสองก็บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย” ดังนั้น การใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519นายปรุงเป็นสามีโจทก์มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์อยู่ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บัญญัติไว้และอำนาจจัดการนั้น มาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่า ให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ฉะนั้น นายปรุงซึ่งเป็นสามีโจทก์จึงมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้ ทั้งที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์หรือสินสมรสที่โจทก์ได้มาโดยทางยกให้หรือพินัยกรรมและการจำหน่ายมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา นายปรุงจึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ทั้งนี้ไม่เป็นการจัดการที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พ.ศ. 2477 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องขอเพิกถอน ส่วนที่โจทก์ฎีกา การที่โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกันในปี 2522 ภายหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว เท่ากับมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรสการจัดการสินสมรสจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 และมาตรา 1480นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 มาตรา 4(1) บัญญัติว่า”บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ” ฉะนั้นการสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงจึงยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ต่อไปแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477” ดังนั้น เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น การที่โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในปี 2522 ย่อมไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อโจทก์กับนายปรุงได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปีพ.ศ. 2491 การจัดการที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา หาใช่ต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share