คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3179/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลน ที่ได้รับอนุญาตโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบแปลนแล้ว แต่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลย รื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบแปลน เป็นการแสดงแจ้งชุดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วส่วนที่ว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้บังคับใช้แก่อาคารที่มีการก่อสร้าง จริงก่อน พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้นโจทก์ไม่จำต้องบรรยาย มาในฟ้อง เพราะเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบ ได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528มิได้หมายถึงตัวบุคคล หากแต่เป็นตำแหน่งในการบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการ ของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมายตามมาตรา 49(1)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจ หน้าที่ดังกล่าว และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามมาตรา 4,8(11) และ 14 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขตในปัจจุบัน) ปฏิบัติราชการแทนจึงเป็นการมอบอำนาจโดยชอบ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2518 และคำสั่งนี้ยังมีผลใช้บังคับได้จนกว่าจะมี การยกเลิกหรือออกคำสั่งใหม่ตามมาตรา 81 วรรคสามประกอบมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หาใช่เป็นอำนาจเฉพาะตัวที่ไม่สามารถมอบอำนาจได้และมีวาระ หรือ ต้องมอบอำนาจกันอีกไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง หลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปหลายแห่งเนื่องจากต้องการหนีความผิดโจทก์จึงปิดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไข และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวไว้ที่หน้าอาคารพิพาท ของจำเลยโดยมีเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 งานเทศกิจ เป็นพยาน เมื่ออาคารพิพาทนี้เป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่ง ของจำเลยจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่ง ให้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้าง ต่อเติม ดัดแปลง ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตของอาคารตึก เลขที่ 205 ตรอกหรือซอยโรงเรียนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท (เขตราชเทวี) กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าว ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า อาคารส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมผิดแบบแปลนนั้น จำเลยก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อใด และอาคารไม่แข็งแรงทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต ทรัพย์สินหรือสุขภาพของผู้อยู่ข้างเคียงหรือไม่อย่างไร ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการสู้คดีระหว่าง พ.ศ. 2530 ถึง 2532 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารพิพาทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทดังกล่าว เนื่องจากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ นอกจากนี้ขณะที่หัวหน้าเขตมีหนังสือให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง แก้ไข ตลอดจนสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทพลเรือเอกเทียม มกรานนท์ ผู้มอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ใช้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หัวหน้าเขตผู้รับมอบอำนาจตามเอกสารดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างดัดแปลง แก้ไขตลอดจนให้รื้อถอนอาคารพิพาทตามกฎหมายเมื่อโจทก์ยังมิได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อย่างไรก็ตามจำเลยไม่ได้ก่อสร้าง ต่อเติม ดัดแปลงอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแบบแปลนดังฟ้องและไม่เคยได้รับทราบคำสั่งเป็นหนังสือรื้อถอนอาคารส่วนที่ผิดแบบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารตึกเลขที่ 205ตรอกหรือซอยโรงเรียนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท(เขตราชเทวี) กรุงเทพมหานคร ในส่วนที่ก่อสร้าง ต่อเติมดัดแปลง ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหากจำเลยไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบแปลนแล้ว แต่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งโจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนอันเป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วส่วนที่จำเลยฎีกาว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ไม่ได้บังคับใช้แก่อาคารที่มีการก่อสร้างจริงก่อน พ.ศ. 2522ดังนั้นจำเลยอาจก่อสร้างอาคารดังกล่าวก่อนทำการขออนุญาตหรือก่อนมีการอนุญาตก็ได้ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งในประเด็นนี้ เห็นว่าโจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อความที่จำเลยฎีกามาในฟ้อง เพราะเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามที่จำเลยฎีกาว่าคำว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งหมายถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นมิใช่หมายถึงกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคล และการสั่งในตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นอำนาจเฉพาะตัว ไม่สามารถมอบอำนาจได้ และต้องมีวาระดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตมีอำนาจดำเนินการ ย่อมถือไม่ได้ว่าหัวหน้าเขตมีอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมิได้หมายถึงตัวบุคคลหากแต่เป็นตำแหน่งในการบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 49(1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 การดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามมาตรา 4,8(11) และ 14 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขตในปัจจุบัน) ตามสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4084/2524 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2524เรื่อง มอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติราชการแทน ตามเอกสารหมาย จ.25 จึงเป็นการมอบอำนาจโดยชอบโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และคำสั่งนี้ยังมีผลใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือออกคำสั่งใหม่ตามมาตรา 81 วรรคสามประกอบมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หาใช่เป็นอำนาจเฉพาะตัวที่ไม่สามารถมอบอำนาจได้และมีวาระ หรือต้องมอบอำนาจกันอีกดังที่จำเลยฎีกาไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามว่า จำเลยก่อสร้างต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยก่อสร้าง ต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยได้รับทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้วหรือไม่ นายศิริวัฒน์พยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปหลายแห่งเนื่องจากต้องการหนีความผิด พยานจึงปิดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไข และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 ไว้ที่หน้าอาคารพิพาทของจำเลยโดยมีเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 งานเทศกิจเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.20 และภาพถ่ายหมาย จ.19 ประกอบกับได้ความจากเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 21 ว่า พยานโจทก์ได้ปิดคำสั่งรื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.17 เมื่อวันที่7 สิงหาคม 2532 และจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงน่าเชื่อว่า ณ อาคารพิพาทนี้เป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของจำเลยจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้
พิพากษายืน

Share