แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบแปลนแล้ว แต่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบแปลน เป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนที่ว่า พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ไม่ได้บังคับใช้แก่อาคารที่มีการก่อสร้างจริงก่อน พ.ศ.2522 หรือไม่นั้นโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มิได้หมายถึงตัวบุคคล หากแต่เป็นตำแหน่งในการบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมายตามมาตรา49 (1) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว การดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าว และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามมาตรา 4, 8 (11) และ 14 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขตในปัจจุบัน) ปฏิบัติราชการแทนจึงเป็นการมอบอำนาจโดยชอบโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 และคำสั่งนี้ยังมีผลใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือออกคำสั่งใหม่ตามมาตรา 81 วรรคสามประกอบมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2528 หาใช่เป็นอำนาจเฉพาะตัวที่ไม่สามารถมอบอำนาจได้และมีวาระ หรือต้องมอบอำนาจกันอีกไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
หลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปหลายแห่งเนื่องจากต้องการหนีความผิดโจทก์จึงปิดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไข และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวไว้ที่หน้าอาคารพิพาทของจำเลยโดยมีเจ้าหน้าที่ปกครอง3 งานเทศกิจเป็นพยาน เมื่ออาคารพิพาทนี้เป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของจำเลยจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้