คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192-193/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อการกระทำของลูกจ้างเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานนายจ้างย่อมมีสิทธิฟ้องได้ทั้งสองทาง สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีนายจ้างฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเหมืองแร่ภูเก็ต เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายคือจำเลยนำประตูน้ำออกไปจากเหมืองเพื่อจำหน่าย แล้วนำกลับมาเก็บไว้เป็นเหตุให้ประตูน้ำชำรุดเสียหายเป็นเงิน ๖,๗๖๐ บาท และจำเลยขออนุมัติซื้อไม้โกโบ้ภูเขาโดยวิธีพิเศษ แต่จำเลยซื้อมาในราคาแพงกว่าราคาปกติรวมเป็นเงิน ๕๘,๐๐๐ บาท สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำบันทึกขอเปลี่ยนแผนผังโครงการส่อไปในทางทุจริต อ้างว่าการทำเหมืองแร่ต่อไปจะไม่มีขุนน้ำใสต้องนำมูลดินทรายไปทิ้งในที่ของเอกชน โจทก์หลงเชื่อจึงอนุมัติให้จำเลยดำเนินการตั้งท่อส่งทรายดังกล่าว เสียค่าใช้จ่ายไป ๔๕,๓๐๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า เกี่ยวกับพัสดุมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ถ้ามีความเสียหายย่อมเป็นความผิดของหัวหน้างานพัสดุ เรื่องไม้โกโบ้ภูเขาจำเลยจัดซื้อถูกต้องตามระเบียบแล้ว และการบันทึกขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองแร่จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ละเมิดนับถึงวันฟ้องเกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการทำให้ประตูน้ำเสียหาย ๑ ตัว เป็นเงิน ๓,๓๘๐ บาท ค่าเสียหายในการซื้อไม้โกโบ้แพงกว่าความเป็นจริง ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปีแล้ว เพราะการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดมิใช่ผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องได้ทั้งสองทางสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องถือได้ว่าเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย มิใช่ว่าเป็นมูลละเมิดแล้วจะไม่ทำให้เป็นผิดสัญญาจ้างแรงงานก็หาไม่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share