คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3176/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 5 รับรองข้อความในหนังสือชี้แจงเรื่องราวว่า ซ. ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทด้วยผู้หนึ่งได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 5 เพื่อยืนยันหนังสือชี้แจงที่ยื่นต่อนายทะเบียนนั้น มิได้มีข้อความพาดพิงเกี่ยวเนื่องไปถึงโจทก์ซึ่งพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทไปแล้วแต่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 5 เกี่ยวกับ ซ. ต่อนายทะเบียนโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆจากการกระทำของจำเลยที่ 5ที่โจทก์อ้างว่ากรรมการที่เปลี่ยนแปลงใหม่ไม่รับผิดชอบในเช็คที่โจทก์ออกในนามของบริษัทสั่งจ่ายให้เจ้าหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแล้ว ไม่ได้ทำบัญชีเกี่ยวกับกิจการของบริษัทและทำบัญชีงบดุลของบริษัทให้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ก็มิใช่การกระทำของจำเลยที่ 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 264, 268, 83 และ 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 5ให้ประทับฟ้องโจทก์เกี่ยวแก่จำเลยที่ 5 ไว้พิจารณา ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้หากจะได้ความว่าจำเลยลงชื่อรับรองข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้องโจทก์จริง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์ อันเป็นการกระทำผิดต่อพนักงานซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง การที่โจทก์พ้นจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติกันดังกล่าว ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ความเสียหายของโจทก์มิได้สืบเนื่องมาจากข้อความรับรองเท็จของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่า การประชุมใหญ่วิสามัญของบริษัทได้มีมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการ เป็นมติจากการประชุมใหญ่ที่ชอบ โจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทต่อไปดังนี้การที่จำเลยที่ 5 รับรองข้อความในหนังสือชี้แจ้งเรื่องราวดังกล่าวว่า นายเซ้งซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทด้วยผู้หนึ่งได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 5 เพื่อยืนยันหนังสือชี้แจงที่ยื่นต่อนายทะเบียนนั้น มิได้มีข้อความพาดพิงเกี่ยวเนื่องไปถึงโจทก์ แต่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 5 เกี่ยวกับนายเซ้งต่อนายทะเบียน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จากการกระทำของจำเลยที่ 5 ความเสียหายที่โจทก์ได้รับดังที่กล่าวอ้างมาในฎีกาของโจทก์ว่า กรรมการที่เปลี่ยนแปลงใหม่ไม่รับผิดชอบในเช็คที่โจทก์ออกในนามของบริษัทสั่งจ่ายให้เจ้าหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแล้วไม่ได้ทำบัญชีเกี่ยวกับกิจการของบริษัทและทำบัญชีงบดุลของบริษัทให้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ก็มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จ

พิพากษายืน

Share