แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นผลให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น ต้องเป็นการเพิกถอนตามมาตรา 115 คือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นซึ่งหมายถึงการโอนที่กระทำก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นไม่รวมถึงการโอนที่กระทำภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ดังนั้นหากมีการชำระหนี้ภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การชำระหนี้นั้นก็เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ แม้เจ้าหนี้จะรับชำระหนี้ไว้ ก็ไม่ทำให้หนี้นั้นระงับไป เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้นั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้รายนี้เสีย เมื่อการเพิกถอนไม่เกี่ยวกับปัญหาตามมาตรา 115 เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 92 ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย จำนวน 40,329 บาทซึ่งถูกศาลสั่งเพิกถอน จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้เป็นเงิน20,164.38 บาท เท่านั้นศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 40,329 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2525 ธนาคารกรุงเทพ จำกัดเป็นโจทก์ฟ้องนายประกิตจำเลยที่ 1 และนายกระแสร์จำเลยที่ 2ขอให้เป็นบุคคลล้มละลายวันที่ 10 พฤศจิกายน 2525 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด วันที่ 30 สิงหาคม 2525วันที่ 10 พฤศจิกายน 2525 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 29 เมษายน 2526 จำเลยที่ 2ได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ให้ธนาคารเอเซียทรัสต์ จำกัด เจ้าหนี้ครั้งละ 10,000 บาท ซึ่งต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าวตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ได้คืนเงินที่รับชำระไว้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยรวม 40,329 บาท แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับเงินกู้และดอกเบี้ยจำนวนที่กล่าวแล้วต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สำหรับการเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2525 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2525พร้อมดอกเบี้ยรวม 20,164.38 บาทนั้น เป็นอันยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วว่า ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวได้ คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะการเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 29 เมษายน 2526พร้อมดอกเบี้ยรวม 20,164.62 บาท ว่า ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆที่จะเป็นผลให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น มาตรา 92แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องเป็นการเพิกถอนตามมาตรา 115 การเพิกถอนตามมาตรานี้ เป็นเรื่องที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น ซึ่งมีปัญหาว่า จะรวมถึงการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ภายหลังที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ด้วยหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว มาตรา 24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินอีก แสดงว่าการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นตามมาตรา115 หมายถึงการโอนที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นหากจะตีความให้รวมถึงการโอนที่กระทำภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วด้วย บทบัญญัติ มาตรา 24 ก็จะไร้ผลดังนั้นการชำระหนี้ดังที่กล่าวมาแล้วจึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามมาตรา 24 เป็นผลให้การชำระหนี้นั้นเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับดังนั้นแม้ธนาคารเจ้าหนี้จะรับชำระหนี้ไว้ ก็ไม่ทำให้หนี้นั้นระงับไป ธนาคารเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้นั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้รายนี้เสีย เมื่อการเพิกถอนไม่เกี่ยวกับปัญหาตามมาตรา 115 ดังที่กล่าวมาแล้ว ธนาคารเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น