แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำใบมอบฉันทะซึ่งมีลายมือชื่อของผู้ตายอันเป็นลายมือปลอมไปขอรับเงินหลังจากผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายแล้วถึง9 วัน โดยปกปิดไม่แจ้งให้ทางธนาคารทราบ ย่อมส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต โดยรู้ดีว่าแบบขอเบิกเงินนั้นเป็นเอกสารสิทธิปลอม จึงแกล้งปกปิดความจริงไม่แจ้งให้ธนาคารทราบการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265,268, 352, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสองจำคุก 2 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้แต่งงานกับนางสำรวย วงษ์รักษา ผู้ตาย แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2525 ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคเยื่อในสมองอักเสบ ต่อมาเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งของศาลแล้วได้ไปติดต่อธนาคารออมสิน สาขาสามพราน เพื่อขอเบิกเงินของผู้ตาย ปรากฏว่าจำเลยได้เบิกเงินของผู้ตายไปหมดแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 โดยจำเลยอ้างว่าผู้ตายได้มอบฉันทะให้จำเลยไปเบิกเงินดังกล่าว คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม สำหรับข้อหาฐานยักยอกนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ข้อหาฐานยักยอกจึงยุติ คงมีปัญหาในชั้นนี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายเสถียร หุ่นสวัสดิ์และนางปราณี หุ่นสวัสดิ์ น้องของผู้ตายพยานโจทก์ว่า พยานทั้งสองเคยเห็นและจำฝาก เอกสารหมาย จ.3/3ในช่องลายมือชื่อผู้มอบฉันทะและในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย ซึ่งไม่เหมือนกับลายมือชื่อของผู้ตายตามบัตรลายมือชื่อลายมือชื่อของผู้ตายได้ และยืนยันว่าลายมือชื่อใน อส.6 ก. แบบถอนเงินปิดบัญชีเงินผู้ฝากเอกสารหมายจ.3/1 และแบบขอเปิดบัญชีฝากเงินเอกสารหมาย จ.3/2 พิจารณาลายมือชื่อของผู้ตายในเอกสารหมาย จ.3/3 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ตาย ได้มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้ตายที่เขียนไว้ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อผู้ฝากตามเอกสารหมาย จ.3/1 และในแบบขอเปิดบัญชีฝากเงินออมสินเอกสารหมาย จ.3/2 แล้ว ปรากฏว่าลักษณะการเขียนตัวอักษรแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอักษร น, ร, ว, และ ย รูปลักษณะตัวอักษรดังกล่าวแตกต่างกันมาก ฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและในช่องผู้มอบฉันทะในเอกสารหมาย จ.3/3 เป็นลายมือชื่อของผู้ตาย เชื่อว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม แต่ใครเป็นผู้ปลอมเอกสารฉบับนี้ไม่มีพยานโจทก์รู้เห็นเพียงแต่เอกสารฉบับนี้อยู่กับจำเลย จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อผู้ตายนั้นยังไม่ถนัดนัก จำเลยยอมรับว่าได้นำแบบขอถอนเงินปิดบัญชีเลิกฝากเอกสารหมาย จ.3/3 ไปขอถอนเงินจากธนาคารออมสิน สาขาสามพราน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 จริงแต่จำเลยอ้างว่าผู้ตายได้มอบฉันทะให้มาถอนเงินแทน ซึ่งข้ออ้างของจำเลยมีพิรุธและขัดต่อเหตุผลอยู่หลายประการกล่าวคือ จำเลยอ้างว่าผู้ตายเซ็นใบมอบฉันทะให้ไปถอนเงินก่อนผู้ตายจะป่วย 2 วัน ถ้าผู้ตายมีความจำเป็นที่จะใช้เงินและต้องการถอนเงินก่อนผู้ตายป่วย ผู้ตายก็น่าจะไปถอนเอง ไม่มีความจำเป็นต้องมอบฉันทะให้คนอื่นไปถอนแทน และข้ออ้างของจำเลยนี้ขัดกับคำเบิกความตอนหนึ่งของจำเลยที่ว่า ก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตาย จำเลยเคยปรึกษาผู้ตายว่าจะเบิกเงินที่ธนาคารเพื่อนำมารักษาผู้ตายที่โรงพยาบาล ผู้ตายบอกให้จำเลยไปเอาใบมอบฉันทะมาให้ผู้ตายเซ็นชื่อ ข้อความดังกล่าวนี้หมายความว่าผู้ตายลงลายมือชื่อมอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินเมื่อผู้ตายเริ่มป่วยแล้ว หาใช่มอบฉันทะให้ก่อนที่ผู้ตายป่วยไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่นำใบมอบฉันทะไปขอรับเงินหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วถึง 9 วัน โดยปกปิดไม่แจ้งให้ทางธนาคารทราบเช่นนี้ ย่อมส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตโดยรู้ดีว่าแบบขอเบิกเงินตามเอกสาร จ.3/3 นั้น เป็นเอกสารสิทธิปลอม จึงแกล้งปกปิดความจริงไม่แจ้งให้ธนาคารทราบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 วางโทษจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.