แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารผู้คัดค้านโอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดลูกหนี้ที่ 1 ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 28กันยายน 2522 เป็นการชำระหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารเพื่อหักหนี้ เกิดจากหนังสือค้ำประกันยินยอมการหักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับธนาคารผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2520 ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2522 ธนาคารผู้คัดค้านในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้เงินฝากประจำที่ธนาคารรับฝากไว้แม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารผู้คัดค้านก็มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ระหว่างหนี้ตามสัญญาค้ำประกันกับมูลหนี้เงินฝากประจำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 102 ทั้งตามมาตรา 115 ใช้คำว่าลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ มุ่งถึงกิริยาที่ยินยอม มิได้ใช้คำว่าผู้อื่นทำด้วยความยินยอมของลูกหนี้ ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้กระทำหรือยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านกระทำการโอนบัญชีและหักหนี้เมื่อวันที่ 28กันยายน 2522 ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามมาตรา 115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวไม่ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่8/2527)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายชวลิตโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2522 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2523 ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2520 ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 โดยลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นจำนวนไม่เกิน1 ล้านบาทมีกำหนด 12 เดือน มีลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน โดยลูกหนี้ที่ 2ยอมมอบเงินฝากประจำซึ่งฝากไว้กับธนาคารดังกล่าววงเงินฝาก 1 ล้านบาทให้ไว้เป็นหลักประกันและทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้หากลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ที่ 2 ทราบเสียก่อน เมื่อทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ได้เบิกและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีตลอดมา ต่อมาลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ธนาคารจึงดำเนินการหักกลบลบหนี้โดยโอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 1,070,919 บาท 28 สตางค์ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2522 เป็นการชำระหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคาร การที่ลูกหนี้ที่ 2 ยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ที่ 1ดังกล่าวเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ธนาคารเจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จึงขอให้ศาลเพิกถอนการชำระหนี้ ให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านแถลงคัดค้านว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2521 ซึ่งครบกำหนดสัญญาลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 1,066,547 บาท 57 สตางค์ แต่ลูกหนี้ที่ 1ไม่ชำระ ผู้คัดค้านจึงนำเงินฝากประจำที่ลูกหนี้ที่ 2 ส่งมอบเป็นประกันชำระหนี้ตามสิทธิของผู้คัดค้าน หาใช่เป็นการกระทำของลูกหนี้ที่ 2 หรือลูกหนี้ที่ 2ยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นไม่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนชำระหนี้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อนี้โดยมติที่ประชุมใหญ่ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 บัญญัติว่า “การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้” เห็นว่าการขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้พิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นหรือไม่เท่านั้น ปรากฏตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย ป.2 ข้อ 1 ว่า “เนื่องในการที่ธนาคารได้ยอมให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงไสไม้เหรียญทองโดยนางสาวนงลักษณ์ หวังรัตนพงษ์บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 536 ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “ผู้เบิกเงินเกินบัญชี”เบิกเงินจากธนาคารตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2521 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ผู้ค้ำประกันทราบข้อความในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยตลอดแล้ว ผู้ค้ำประกันสมัครใจยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวแล้วตลอดจนดอกเบี้ย” และตามหนังสือสัญญายินยอมการหักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ 2และธนาคารผู้คัดค้าน ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ป.3 มีว่าข้อ 1 “ตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงไสไม้เหรียญทองโดยนางสาวนงลักษณ์ หวังรัตนพงษ์ ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเป็นวงเงิน 1,000,000 บาท ตามสัญญาลงวันที่ 1 ธันวาคม 2520 นั้น” ข้อ 2 มีว่า “เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงไสไม้เหรียญทองตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 1ข้าพเจ้าเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำประเภท 2 อยู่กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาดาวคนอง ตามบัญชีเลขที่ 1243 ตกลงยินยอมมอบเงินฝากของข้าพเจ้าดังกล่าว พร้อมหลักฐานการฝากเงินเป็นสมุดคู่ฝากจำนวนเงิน1,000,000 บาท ไว้เป็นหลักประกันต่อธนาคารนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป”ข้อ 3 มีว่า “ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงไสไม้เหรียญทองผู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวในข้อ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี หรือมีกรณีอื่นใดอันกระทำให้ธนาคารไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแล้วเต็มจำนวนก็ดี ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของข้าพเจ้าดังกล่าวชำระหนี้ดังกล่าวในข้อ 1 และอุปกรณ์ได้ครบถ้วนทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ข้าพเจ้าทราบก่อน ข้าพเจ้ารับรองว่าข้าพเจ้าจะไม่คัดค้านหรือโต้แย้งหรืออ้างสิทธิเรียกร้องเอากับธนาคารแต่ประการใดทั้งสิ้น” ข้อ 4 มีว่า “ข้าพเจ้าตกลงยินยอมว่า ตราบใดที่ธนาคารยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามข้อ 1 ครบถ้วน ตราบนั้นข้าพเจ้าจะไม่ถอนเงินฝากประจำของข้าพเจ้าดังกล่าวเป็นอันขาด และจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมสิทธิในหลักประกันดังกล่าวเป็นอันขาด หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลแก่หลักประกันดังกล่าวแต่อย่างใด” ดังนั้นการที่ธนาคารผู้คัดค้านจะใช้สิทธิโอนเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 1243 ของลูกหนี้ที่ 2 ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 536 ของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน2522 เป็นการชำระหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารผู้คัดค้านเพื่อหักหนี้นั้น จึงเกิดจากหนังสือสัญญายินยอมการหักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับธนาคารผู้คัดค้านลงวันที่ 1 ธันวาคม 2520 ข้อตกลงนี้ได้ทำขึ้นก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2522 เป็นเวลาถึง 1 ปี 11 เดือน หากลูกหนี้ที่ 2 ไม่ทำหนังสือค้ำประกันตกลงยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านหักบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 ชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ที่มีต่อธนาคารผู้คัดค้านแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าธนาคารผู้คัดค้านคงจะไม่ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดลูกหนี้ที่ 1 โดยลูกหนี้ที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 1,000,000บาท ซึ่งทำในวันเดียวกันนั้น เมื่อธนาคารผู้คัดค้านได้โอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 ตามบัญชีเลขที่ 1243 เข้าบัญชีเลขที่ 536 ของลูกหนี้ที่ 1 เพื่อชำระหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ค้างชำระอยู่ก่อนที่จะมีการขอให้ลูกหนี้ทั้ง 2 ล้มละลายก็ได้มีการโอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 เข้าบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 1 ก่อนที่จะมีการขอให้ลูกหนี้ทั้ง 2 ล้มละลาย นอกจากนั้นธนาคารผู้คัดค้านย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้ค้ำประกัน และเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2ในมูลหนี้เงินฝากประจำที่ธนาคารรับฝากไว้ แม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวธนาคารผู้คัดค้านก็มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ระหว่างหนี้ตามสัญญาค้ำประกันกับมูลหนี้เงินฝากประจำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 102ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถึงแม้ว่ามูลหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบหนี้กันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว” อีกประการหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ใช้คำว่าลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำมุ่งถึงกิริยาที่ยินยอม มิได้ใช้คำว่าผู้อื่นทำด้วยความยินยอมของลูกหนี้ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้กระทำหรือยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านกระทำการโอนบัญชีและหักหนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2522 ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับธนาคารผู้คัดค้านที่ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2520 ที่ลูกหนี้ที่ 2 ยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านหักเงินจากบัญชีของลูกหนี้ที่ 2 ใช้หนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 มีต่อธนาคารผู้คัดค้านโดยที่ธนาคารผู้คัดค้านสามารถทำได้ฝ่ายเดียว โดยลูกหนี้ที่ 2 จะไม่คัดค้านหรือโต้แย้งไม่ต้องให้ความยินยอมอีก และลูกหนี้ที่ 2 ก็จะถอนข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้
พิพากษายืน