คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จึงมีฐานะเช่นเดียวกับจำเลยดังนั้นเมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำให้การแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ร้องสอดอีกกรณีย่อมถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์คือคำคัดค้านคำให้การของผู้ร้องสอดอยู่ในตัว
เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องศาลย่อมหยิบยกเอาเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยคดีโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องได้
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 และกำหนดประเด็นพิพาท 3 ข้อคือ ข้อแรก จำเลยอยู่ในตึกและที่ดินที่เป็นของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ข้อสองโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่พิพาทแล้วหรือไม่ ข้อสามโจทก์เสียหายเพียงใดหรือไม่ หลังจากนั้นผู้ร้องสอดจึงยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว ผู้ร้องสอดจึงได้ยื่นคำให้การ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2522 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2522 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า’ศาลได้พิเคราะห์คำให้การจำเลยร่วมแล้วเห็นว่าจำเลยร่วมต่อสู้ในประเด็นที่ว่าตึกและที่ดินรายพิพาทมิได้เป็นของโจทก์ทำนองเดียวกับที่จำเลยได้ต่อสู้ไว้แล้วเป็นแต่จำเลยร่วมยกข้อต่อสู้เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงให้เพิ่มประเด็นข้อพิพาทขึ้นอีกข้อหนึ่งเป็นข้อที่สี่ว่าฟ้องโจทก์’เคลือบคลุมหรือไม่’การดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นมิใช่เป็นการชี้สองสถานดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 เพราะศาลกำหนดเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ มิใช่วันนัดชี้สองสถานทั้งไม่ปรากฏว่าศาลได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์เทียบกับคำให้การของผู้ร้องสอดหรือไม่ประเด็นเรื่องสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเสียไปหรือไม่จึงยังคงมีอยู่ทั้งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับประเด็นที่ว่าตึกและที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์ทำนองเดียวกับที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้นั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าตึกและที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่มีประเด็นพิพาทว่าตึกและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ตรงตามคำฟ้องและคำให้การแต่ปรากฏว่าโจทก์และผู้ร้องสอดได้นำสืบในประเด็นข้อนี้ครบถ้วนและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6261พร้อมตึกเลขที่ 66 และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 4952/2508 จำเลยและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกดังกล่าว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอาศัยต่อไป จึงมอบอำนาจให้ทนายมีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกไป จำเลยได้รับการบอกกล่าวแล้วแต่ไม่ยอมออกไป ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยให้การว่าโจทก์จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวและที่ดินพิพาทหรือไม่จำเลยไม่ทราบ และโจทก์จะซื้อที่พิพาทและตึกแถวจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4952/2508 หรือไม่จำเลยไม่ทราบ จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้มีชื่อซึ่งมีความสัมพันธ์กันในทางครอบครัวซึ่งอยู่ถัดจากที่พิพาทเข้าไปเป็นคนละแปลงกัน จำเลยไม่เคยได้รับการบอกกล่าวจากโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

นางศรไกร รณรงค์ ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม

ผู้ร้องสอดให้การว่าเป็นเจ้าของตึกและที่ดินพิพาทโดยครอบครองมานาน 30-40 ปีแล้ว โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้อง โจทก์จะเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามฟ้องหรือไม่ ผู้ร้องสอดไม่ทราบ เพราะทรัพย์พิพาทมีการขายทอดตลาดหลายครั้งแต่ขายไม่ได้ ได้มีการขายทอดตลาดครั้งที่ 6 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2520 แต่ศาลชั้นต้นให้งดการขาย ผู้ร้องสอดไม่เคยทราบว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทผู้ร้องสอดไม่เคยขายและไม่เคยเป็นผู้โอนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์และไม่เคยทราบว่าศาลสั่งให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้โอนขายทรัพย์แก่โจทก์ ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับคำสั่งที่ 09785 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2520 ซึ่งออกโดยสำคัญผิดไปแล้ว การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์โดยอาศัยคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบและไม่สุจริตตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศขายทรัพย์ของกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินมีเงื่อนไขว่า “การขายที่ดินรายนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้างในเรื่องการรอนสิทธิและอื่น ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับรองและไม่รับผิดชอบในทรัพย์ที่ขาย”จึงเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ต้องห้ามไว้โดยชัดแจ้งตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ การขายทรัพย์ในวันที่ 13 มิถุนายน 2520 จึงตกเป็นโมฆะด้วย ผู้ร้องสอดยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทตามเดิม ก่อนขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องสอดได้เคยยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินลงวันที่ 9มิถุนายน 2520 และยื่นคำร้องต่อศาลลงวันที่ 10 มิถุนายน 2520 ว่าการบังคับคดีรายนี้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหลายประการ ขอให้สั่งถอนการบังคับคดีกับคืนโฉนดที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดและสั่งให้เลื่อนการขายทรัพย์ศาลแพ่งสั่งว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขาย รอฟังการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องสอดก่อนโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ร้องสอดวางเงินค่าใช้จ่ายในคราวหน้า เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งของศาลแพ่งแล้วกลับฝ่าฝืนขายทรัพย์และมิได้กำหนดจำนวนเงินให้จำเลยที่ 1 วางเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ศาลแพ่งมีคำสั่ง ผู้ร้องสอดได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดจำนวนเงินที่วางแต่ถูกปฏิเสธและได้ขายทรัพย์ในวันที่ 13 มิถุนายน2520 นั้นเอง ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 17 มิถุนายน 2520 ต่อศาลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทรัพย์ไปแล้วเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลแพ่งสั่งว่าจะพิจารณาคำร้องนี้รวมกับคำร้องฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2520 โดยขอยืมสำนวนจากศาลฎีกามาประกอบการพิจารณา ต่อมาศาลฎีกาส่งสำนวนมาให้แต่ศาลแพ่งมิได้สั่งคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวกลับส่งสำนวนคืนศาลฎีกาผู้ร้องสอดจึงยื่นคำร้องลงวันที่ 11 สิงหาคม 2520 ขอให้ศาลพิจารณาคำร้อง 2 ฉบับโดยด่วน ศาลแพ่งสั่งรับไว้อีกและว่าจะสั่งคำร้องทั้ง 3 ฉบับรวมกันจนบัดนี้ศาลแพ่งยังมิได้พิจารณาสั่งคำร้องทั้ง 3 ฉบับนั้น แต่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งระงับการโอนขอให้ยกฟ้องโจทก์ กับพิพากษาเพิกถอนเอกสารประกาศขายทรัพย์ของกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินลงวันที่ 2พฤษภาคม 2520 และเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ในวันที่ 13มิถุนายน 2520 กับให้ถอนชื่อโจทก์ออกจากโฉนดที่ 6261 และคืนโฉนดให้ผู้ร้องสอด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดกับบริวารออกจากที่ดินและตึกพิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งรับเฉพาะอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องสอดฎีกาว่าเมื่อโจทก์ทราบคำให้การของผู้ร้องสอดที่ต่อสู้กรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว โจทก์มิได้คัดค้านอย่างใด ถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จึงมีฐานะเช่นเดียวกับจำเลยดังนั้นเมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำให้การแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ร้องสอดอีกกรณีย่อมถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์คือคำคัดค้านคำให้การของผู้ร้องสอดอยู่ในตัว ฎีกาผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น

ผู้ร้องสอดฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เรื่องสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเสียไปหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นไว้และผู้ร้องสอดมิได้โต้แย้งคัดค้านจึงถือว่าผู้ร้องสอดสละประเด็นดังกล่าวแล้ว แม้ในชั้นพิจารณาศาลจะยอมให้คู่ความนำสืบและวินิจฉัยให้ก็ตาม ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ผู้ร้องสอดเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องเพราะผู้ร้องสอดได้ยกประเด็นข้อนี้ไว้ในคำให้การแล้ว ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 และกำหนดประเด็นพิพาท 3 ข้อคือ ข้อแรกจำเลยอยู่ในตึกและที่ดินที่เป็นของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ข้อสองโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่พิพาทแล้วหรือไม่ ข้อสามโจทก์เสียหายเพียงใดหรือไม่ หลังจากนั้นนางศรไกร รณรงค์ จึงยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วผู้ร้องสอดจึงได้ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2522 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม2522 อันเป็นวันสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “ศาลได้พิเคราะห์คำให้การจำเลยร่วมแล้ว เห็นว่าจำเลยร่วมต่อสู้ในประเด็นที่ว่าตึกและที่ดินรายพิพาทมิได้เป็นของโจทก์ทำนองเดียวกับที่จำเลยได้ต่อสู้ไว้ เป็นแต่จำเลยร่วมยกข้อต่อสู้เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จึงให้เพิ่มประเด็นข้อพิพาทขึ้นอีกข้อหนึ่งเป็นข้อที่สี่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่” เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นนั้นมิใช่เป็นการชี้สองสถานดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 เพราะศาลกำหนดเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ มิใช่วันนัดชี้สองสถานทั้งไม่ปรากฏว่าศาลได้ตรวจคำฟ้องโจทก์เทียบกับคำให้การของผู้ร้องสอดหรือไม่ ประเด็นเรื่องสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเสียไปหรือไม่จึงยังคงมีอยู่ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับประเด็นที่ว่าตึกและที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์ทำนองเดียวกับที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้นั้นก็ไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าตึกและที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่มีประเด็นพิพาทว่าตึกและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ตรงตามคำฟ้องและคำให้การ แต่ปรากฏว่าโจทก์และผู้ร้องสอดได้นำสืบในประเด็นข้อนี้ครบถ้วนและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องสอดฟังขึ้น และศาลฎีกาได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของศาลและการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share