คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พ. ลงนามในสัญญารับเหมาสร้างทางในฐานะทำแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 สัญญามีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เมื่อ พ. และคนงานสร้างทางตัดฟันต้นไม้และแผ้วถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด จะมารื้อฟื้นยกขึ้นเป็นข้อฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 390,124 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 และคดีปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยฟ้องข้อเท็จจริงว่านายพิเชษฐ์เทียนทอง ได้ลงนามในสัญญารับจ้างเหมาสร้างทางตามเอกสารหมาย จ.4 ในฐานะทำแทนห้างจำเลยที่ 1 สัญญามีผลผูกพันห้างจำเลยที่ 1 และนายพิเชษฐ์เทียนทอง กับคนงานสร้างทางได้ตัดฟันต้นไม้และแผ้วถางป่าโดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการ ไม้ที่ถูกตัดฟันและป่าที่ถูกแผ้วถางเสียหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 390,124 บาท ห้างจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่ง ละเมิดดังกล่าวและพิพากษาให้ห้างจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดและพิพากษามานั้น ห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 จะมารื้อฟื้นยกขึ้นเป็นฎีกาคัดค้านต่อศาลฎีกาว่า ห้างจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดเกี่ยวกับกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วนั้น หาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว และเห็นว่าคดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่เท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่ามีหนี้เกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งห้างจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) และมาตรา 1087 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 722/2524 คดีระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลกิจค้าวัสดุก่อสร้าง กับพวก จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share