คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มีผู้จับมือเจ้ามรดกเขียนชื่อในขณะที่เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เท่ากับว่าเจ้ามรดกไม่ได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรม เอกสารที่ทำไว้จึงไม่เป็นพินัยกรรม ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้แสดงออกต่อผู้อื่นว่าบุตรเป็นบุตรของตนและให้ใช้นามสกุลตลอดมา ถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1639

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีพระครูเมธีชานุเขตเป็นเจ้าอาวาส โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสอ แก้วโส ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับพระภิกษุเหี่ย แก้วโส นายสอถึงแก่กรรมไปก่อนพระภิกษุเหี่ยโจทก์ที่ 2 จึงเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุเหี่ย พระภิกษุเหี่ยอุปสมบท และจำพรรษาอยู่ที่วัดโจทก์ที่ 1 จนถึงแก่มรณภาพ ระหว่างที่พระภิกษุเหี่ยมีชีวิตอยู่ พระภิกษุเหี่ยมีทรัพย์สินคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1060, 1243,1550 และ 1551 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2525 พระภิกษุเหี่ยทำหนังสือยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1060, และ 1551 พร้อมบ้าน 1 หลังให้โจทก์ที่ 1 หลังจากพระภิกษุเหี่ยถึงแก่มรณภาพแล้วจำเลยกล่าวอ้างว่าพระภิกษุเหี่ยทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวให้จำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยไปขอรับโอนมรดกจากสำนักงานที่ดิน โจทก์ทั้งสองเห็นว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับผู้มีชื่อคนหนึ่งเขียนขึ้นเป็นแบบพินัยกรรมแล้วให้พระภิกษุเหี่ยลงลายมือชื่อในขณะที่อาพาธมีอาการเพียบหนัก ไม่มีสติสัมปชัญญูะทั้งพินัยกรรมฉบับดังกล่าวลงวันที่ย้อนหลัง ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 เป็นโมฆะ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกจนกว่าจะได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสอ นายสอไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเหี่ย พระภิกษุเหี่ยไม่เคยทำหนังสือยกที่ดินจำนวน 2 แปลง ตามฟ้องให้โจทก์ที่ 1 พระภิกษุเหี่ยทำพินัยกรรมขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และลงวันที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530ของพระภิกษุเหี่ย แก้วโส เป็นโมฆะ ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว จนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่22 กรกฎาคม 2530 ไม่สมบูรณ์ไม่มีผลใช้บังคับ และให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก
โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า พระภิกษุเหี่ยถึงแก่มรณภาพในขณะที่อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัด โจทก์ที่ 1 ก่อนอุปสมบทพระภิกษุเหี่ยมีสิทธิครอบครองในที่บ้าน 1 แปลง ที่นา 3 แปลง ที่ดินทุกแปลงพระภิกษุเหี่ยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ในขณะที่พระภิกษุเหี่ยอุปสมบทแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6จ.9 และ จ.10 ต่อมามีการรื้อบ้านในที่บ้านดังกล่าวไปปลูกเป็นกุฏิในวัด โจทก์ที่ 1 โดยพระภิกษุเหี่ยอยู่จำพรรษาที่กุฏินั้น…ส่วนประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทสมบูรณ์ใช้บังคับได้หรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 2 และพระภิกษุประสิทธิ์มาเบิกความสอดคล้องกันว่า พระภิกษุเหี่ยเป็นวัณโรคและโรคชรา ก่อนถึงแก่มรณภาพอาการหนัก เดินไม่ได้จะลุกนั่งก็ต้องพยุง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530 เวลา 17 นาฬิกาเศษขณะที่พยานทั้งสองนั่งคุยกันอยู่ห่างจากพระภิกษุเหี่ยประมาณ4-5 เมตร นายเดือนชัยกับจำเลยไปหาพระภิกษุเหี่ยที่กุฏิแล้วนายเดือนชัยจับมือพระภิกษุเหี่ยเขียนชื่อในกระดาษ ขณะนั้นพระภิกษุเหี่ยอาการหนักพูดไม่ได้ ต้องทำมือ ทำท่าทางรู้บ้างไม่รู้บ้าง พยานเดินเข้าไปดูก็เห็นข้อความที่หัวกระดาษเป็นพินัยกรรม พยานได้พูดต่อว่านายเดือนชัยว่าทำอย่างนี้ไม่สวยนะโยมต่อมานายพรมกับนางทองไปที่กุฏิพระภิกษุเหี่ย โจทก์ที่ 2และพระภิกษุประสิทธิ์ก็เล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง นายพรมกับนางทองก็เบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ที่ 2 กับพระภิกษุประสิทธิ์ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้พยานทั้งสองฟังจริง จำเลยเองก็เบิกความรับว่าพระภิกษุเหี่ยอาพาธหนักมาก เดือน 9 ยังเดินได้ แต่เมื่อเดือน 10 อาพาธหนักลงอีกและถึงแก่มรณภาพ จึงน่าเชื่อว่าในปลายเดือนกรกฎาคม 2530 พระภิกษุเหี่ยน่าจะไม่ออกไปนอกกุฏิถ้าหากไม่จำเป็นจริง ๆ การทำพินัยกรรมเป็นประโยชน์ของผู้รับพินัยกรรม ไม่ใช่เรื่องร้อนใจที่ผู้ให้ต้องดิ้นรน หากพระภิกษุเหี่ยประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมโดยให้นายเดือนชัยเป็นผู้เขียนก็น่าจะให้คนไปตามนายเดือนชัยไปเขียนที่วัด ดังนั้นที่นายเดือนชัยและนางวินัยพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 พระภิกษุเหี่ยนั่งล้อเข็นไปที่บ้านพยานทั้งสองแล้วให้นายเดือนชัยเขียนพินัยกรรมฉบับพิพาทให้จึงไม่น่าเชื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเดือนชัยจับมือพระภิกษุเหี่ยเขียนชื่อพระภิกษุเหี่ย ในขณะที่พระภิกษุเหี่ยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงเท่ากับว่าพระภิกษุเหี่ยไม่ได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรม เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นพินัยกรรมไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่บุตรตามกฎหมายของนายสอ ลำพังสำเนาทะเบียนบ้านเพียงอย่างเดียวแสดงไม่ได้ว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสอที่บิดารับรองแล้วโจทก์ที่ 2 ไม่อาจรับมรดกของพระภิกษุเหี่ยแทนที่นายสอนั้นเห็นว่า นอกจากโจทก์ที่ 2 จะมีสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.13มาแสดงซึ่งมีข้อความระบุว่าบิดาโจทก์ที่ 2 คือนายสอแล้วข้อเท็จจริงในสำนวนยังปรากฏอีกว่า จนกระทั่งจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2530 โจทก์ที่ 2 ก็ยังใช้นามสกุล แก้วโสซึ่งเป็นนามสกุลของนายสออยู่ ดังปรากฏตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.11 จำเลยก็เบิกความรับว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายสอ พฤติการณ์ที่ปรากฏน่าเชื่อว่า นายสอได้แสดงออกต่อผู้อื่นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของตน และให้โจทก์ที่ 2 ใช้นามสกุลของตนตลอดมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสอที่นายสอผู้เป็นบิดาได้รับรองแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิรับมรดกของพระภิกษุเหี่ยแทนที่นายสอผู้เป็นบิดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627, 1629 และมาตรา 1639ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530ไม่มีผลบังคับ ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของพระภิกษุเหี่ย แก้วโส จนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share