คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วโดยบิดาได้แสดงต่อผู้อื่นว่าโจทก์เป็นบุตรและให้ใช้นามสกุลโจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627,1629 และมาตรา 1639

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณา และพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่22 กรกฎาคม 2530 เป็นโมฆะ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกจนกว่าจะได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530ของพระภิกษุเหี่ย แก้วโส เป็นโมฆะ ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว จนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่22 กรกฎาคม 2530 ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลใช้บังคับ และให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสอได้แสดงออกต่อผู้อื่นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของตน และให้โจทก์ที่ 2 ใช้นามสกุลของตนตลอดมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสอที่นายสอผู้เป็นบิดาได้รับรองแล้ว โจทก์ที่ 2จึงมีสิทธิรับมรดกของพระภิกษุเหี่ยแทน ที่นายสอผู้เป็นบิดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627, 1629 และมาตรา 1639
พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530ไม่มีผลบังคับ ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของพระภิกษุเหี่ย แก้วโส จนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share